posttoday

แบงก์เหนื่อยรับมือฟินเทค

14 ธันวาคม 2560

แบงก์ใหญ่ปรับตัวรับฟินเทคยาก ส่วนแบงก์เล็กมีโอกาสชิงส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการ

แบงก์ใหญ่ปรับตัวรับฟินเทคยาก ส่วนแบงก์เล็กมีโอกาสชิงส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการ

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในการสัมมนาหัวข้อ ภาคการเงินปี 2020 และมองไปข้างหน้า ว่า เทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) จะเข้ามาแทนที่บริการทางการเงินดั้งเดิมของธนาคารมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับทำให้ระบบธนาคารล้มหายตายจาก เพียงแต่ก่อกวนให้ธนาคารมีการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวยาก เพราะมีพื้นฐานธุรกิจดั้งเดิมเป็นแหล่งรายได้หลัก เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาก็กลัวว่าจะมากระทบกับรายได้หรือกินตัวเอง โดยไม่มั่นใจว่าเทคโนโลยีนั้นจะทดแทนได้จริงหรือไม่ ซึ่งธนาคารใดคิดว่าระบบเดิมเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัว ก็เห็นการแยกบริษัทลูกออกมา เพื่อความคล่องตัวในการทดสอบเทคโนโลยี โดยคาดว่าไม่เกิน 2 ปี จะเห็นผลจากการปรับตัวของธนาคารที่จะนำเทคโนโลยีมาทำประโยชน์ให้ธุรกิจมากขึ้น

สำหรับทิศทางรายได้ในระยะสั้น 1-2 ปีนี้ ธนาคารใหญ่ต้องกลับมาพึ่งรายได้หลักจากรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งมาจากการปล่อยสินเชื่อ ส่วนค่าธรรมเนียมเติบโตไม่สูงอย่างในอดีต อีกทั้งธนาคารยังต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีอีกมาก ขณะเดียวกันเป็นโอกาสของธนาคารขนาดเล็กที่ปรับตัวได้เร็วกว่า มีโอกาสสร้างบริการใหม่และช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดรายได้ค่าธรรมเนียม เพราะไม่มีข้อจำกัดจากทุน ขนาด หรือทำเลสาขา

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีเป็นประโยชน์กับภาคธนาคารในการลดต้นทุนการให้บริการได้ และทำให้ลูกค้ากลุ่มล่าง (อันเดอร์เสิร์ฟ) เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ในราคาที่จับต้องได้ เช่น การนำโรบอตหรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้แนะนำการลงทุนแก่บุคคลทั่วไป จากเดิมการให้คำปรึกษาการเงินจะบริการแก่ลูกค้าไพรเวตแบงก์ หรือคิดอัลกอริทึมเพื่อการเทรด ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 20% ของการซื้อขายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ด้านผลกระทบต่อพนักงานสาขาจากทิศทางของดิจิทัลแบงก์นั้นมีอยู่บ้าง เพราะเมื่อทำธุรกรรมการเงินผ่านดิจิทัลได้ สาขาก็มีความจำเป็นน้อยลง และธนาคารก็จะปรับรูปแบบหรือปิดสาขาลงไปเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่พนักงานต้องปรับตัวเพิ่มทักษะด้านอื่นๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นก็ต้องเสียตำแหน่งงานไป ซึ่งอาจจะมีบ้าง แต่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากค่าบริการที่ถูกลงตามต้นทุนธนาคารที่ต่ำลง