posttoday

ไทยเที่ยวนอกกระจาย รูดบัตรต่างแดน ต.ค.โต

14 ธันวาคม 2560

การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นสัญญาณหนึ่งที่สะท้อนความมั่นใจในการบริโภคของคนไทย โดยเฉพาะช่วงปลายปีแบบนี้ถือว่าเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นสัญญาณหนึ่งที่สะท้อนความมั่นใจในการบริโภคของคนไทย โดยเฉพาะช่วงปลายปีแบบนี้ถือว่าเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว หากความมั่นใจของคนฟื้นตัว การใช้จ่ายย่อมคึกคักตาม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เปิดเผยตัวเลขสถิติบัตรเครดิต ล่าสุดเดือน ต.ค. ออกมา โดยจากสถิติพบว่า ในเดือน ต.ค. มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวม 1.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 5,321 ล้านบาท หรือ 3.61% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. เป็นยอดที่เกิดจากบัตรที่ออก โดยธนาคารพาณิชย์ 1.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,102 ล้านบาท หรือ 3.02% บัตรที่ออกโดยบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นันแบงก์) 4.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,219 ล้านบาท หรือ 4.96%

เมื่อย้อนกลับไปเทียบกับเดือน ต.ค. 2559 ปริมาณการใช้จ่ายรวมก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ถึง 3.77% โดยเป็นการเพิ่มจากธนาคารพาณิชย์ 2.31% และนันแบงก์ 7.23%

ทั้งนี้ ยอดใช้จ่ายทั้งหมดในเดือน ต.ค. 2560 เกิดจากการใช้จ่ายใน ต่างประเทศสูงถึง 1.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,696 ล้านบาท หรือ 17.22% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. ในจำนวนนี้เป็นยอดจากบัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ 8,012.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,051 ล้านบาท หรือ 15.10% บัตรที่ออกโดยนันแบงก์ 3,530.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 645 ล้านบาท หรือ 22.36%

ทางด้านยอดใช้จ่ายในประเทศ อยู่ที่ 1.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,144 ล้านบาท หรือ 2.57% มาจากบัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ 8.75 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,686 ล้านบาท หรือ 1.96% บัตรที่ออกโดยนันแบงก์ 3.76 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,458 ล้านบาท หรือ 4.02% ขณะที่ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 481 ล้านบาท หรือ 3.08% เป็นยอดจากบัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ 1.03 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 365 ล้านบาท หรือ 3.66% และบัตรที่ออกโดยนันแบงก์ 5,762.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116 ล้านบาท หรือ 2.06%

เมื่อไปดูจำนวนบัญชีบัตรเครดิตเดือน ต.ค. พบว่ามีอยู่ 20.18 ล้านบัญชี ลดลง 8.29 หมื่นบัญชี หรือ 0.41% จากเดือน ก.ย. โดยจำนวนบัญชีที่ลดมาจากบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ด้านยอด สินเชื่อคงค้างโดยรวมอยู่ที่ 3.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,534 ล้านบาท หรือ 0.74% ซึ่งยอดสินเชื่อคงค้าง ในกลุ่มบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ลดลงตามจำนวนบัตร แต่ ยอดสินเชื่อคงค้างจากบัตรที่ออกโดย นันแบงก์เพิ่มขึ้น

อมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ยอดใช้จ่ายที่ออกมาโดยเฉพาะใน ต่างประเทศสอดคล้องกับฤดูกาล ที่เดือน ต.ค. ถือเป็นช่วงเทศกาลที่ คนไทยเริ่มออกไปเที่ยวต่างประเทศ แนวโน้มนี้เป็นทุกปีและยอดการใช้จ่ายก็จะสูงต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส 4 ไปจนถึงช่วงต้นๆ ของไตรมาสแรกปี ถัดไป อีกทั้งยังเป็นผลมาจากผู้ออกบัตรเครดิตได้จัดโปรโมชั่นกระตุ้น การใช้จ่ายผ่านบัตรในต่างประเทศเข้าไปเสริมด้วย เช่น ใช้จ่ายแล้วได้คะแนนเพิ่ม สิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนที่ช่วยให้การใช้จ่ายผ่านบัตรในต่างประเทศสูงขึ้นเช่นกัน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า จากการสำรวจโปรโมชั่นบัตรเครดิต แต่ละ ค่ายต่างมีโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้จ่าย ในต่างประเทศชิงส่วนแบ่งตลาด เช่น ธนาคารกสิกรไทย หากใช้จ่ายถึงที่กำหนดรับเครดิตเงินคืน หรือ เลือกผ่อนชำระ 0% ได้ 3 เดือน รวมทั้งให้รางวัลเป็นกระเป๋าเดินทาง ถึง 15 ม.ค. 2561 บริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี) คิดค่าธรรมเนียมอัตราความเสี่ยงการแปลงสกุลเงินต่างประเทศไม่เกิน 2% พร้อมให้รับเครดิตเงินคืนถึง 31 ม.ค. 2561 ธนาคารกรุงเทพ ให้คะแนนสะสมพิเศษถึง 31 ม.ค. 2561 เป็นต้น

เชื่อว่าโปรโมชั่นที่ดุเดือดจะส่งผลให้ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตในต่างประเทศ 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ยิ่งร้อนแรงแน่นอน