posttoday

ธปท.แก้พรบ.ยกระดับสากลคุมก่อนวิกฤต

22 พฤศจิกายน 2560

ธปท.หวังมาตรการบันไดหนีไฟยกระดับดูแลสถาบันการเงิน ก่อนประเมินผลปีหน้า

ธปท.หวังมาตรการบันไดหนีไฟยกระดับดูแลสถาบันการเงิน ก่อนประเมินผลปีหน้า

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท.เพิ่มมาตราใหม่ ทดแทน พ.ร.บ.ธปท.(ฉบับที่ 4) บทเฉพาะกาล มาตรา 19 ที่สิ้นสุดบังคับใช้ไปเมื่อปี 2555 คาดหวังกฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สภาก่อนเข้าโครงการประเมินภาค การเงิน หรือ FSAP ไตรมาส 4 ปีหน้า ซึ่งประเมินโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก

ทั้งนี้ เพื่อเข้าไปดูแลปัญหาหลักๆ สองเรื่อง คือ การขาดสภาพคล่องที่อาจเกิดจากคนแห่ถอนเงิน หรือเจ้าหนี้สถาบันการเงินเรียกเงินคืนทำให้ขาดสภาพคล่องรุนแรง ซึ่งปัญหานี้ปัจจุบันเขียนชัดเจนว่า ธปท.ให้กู้ยืมได้เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่อง อีกปัญหาคือ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่เพียงพอ ก็จะใช้เครื่องมือกฎหมายมาตราใหม่ที่เสนอนี้มาดูแล

สำหรับการดูแลเบื้องต้นจะทำผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน แต่จะเข้าไปดูแลเมื่อกระทบต่อระบบ โดยจะให้สถาบันการเงินแบ่งรับผิดชอบความเสียหายจ่ายไม่เกิน 1% ของฐานเงินฝาก นับรวมกับเงิน 0.47% ของฐานเงินฝาก สำหรับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 0.01% และนำไปชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ 0.46%

" ธปท.สร้างกลไกคล้ายบันไดหนีไฟ หรือเสื้อชูชีพ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินของ FSAP โดยประเมิน 3 หมวด คือ ประเมินความเสี่ยงของประเทศ ประเมิน การกำกับดูแลสถาบันการเงินของไทยเทียบกับต่างประเทศ และประเมินว่ามีมาตรการในลักษณะเป็นบันไดหนีไฟหรือไม่ เป็นมาตรการ ที่มีประสิทธิภาพอย่างไร ดูแลภาพรวมได้แค่ไหน ซึ่งเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องใหม่ ที่ 10 ปีก่อนไม่มี" นายสมบูรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุดไตรมาส 3 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 2.44 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.4% ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ 15.8%