posttoday

รุมค้านเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ

20 พฤศจิกายน 2560

ภาษีอี-คอมเมิร์ซสอบตก ไม่ผ่านรับฟังความคิดเห็น คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

ภาษีอี-คอมเมิร์ซสอบตก ไม่ผ่านรับฟังความคิดเห็น คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้สรุปการแสดงรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) หรือภาษีอี-คอมเมิร์ซผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ในช่วงวันที่ 21 มิ.ย.-11 ก.ค. 2560 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีผู้แสดงความคิดเห็น 64 ราย เห็นด้วย 29 ราย และไม่เห็นด้วย 35 ราย

ทั้งนี้ การที่มีผู้แสดงไม่เห็นด้วยมากกว่าเห็นด้วย ทำให้กรมสรรพากรต้องทำการชี้การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยอย่างละเอียด ว่า ทำไมรัฐบาลถึงมีความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะเสนอร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบ ซึ่งเดิมกรมสรรพากรตั้งเป้าจะให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในปี 2561 เพื่อทำให้การเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยอาจทำให้การพิจารณากฎหมายนี้ล่าช้าออกไป

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีอี-คอมเมิร์ซ การเก็บภาษีกับผู้ประกอบการนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดรายได้ในประเทศไทย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิลยูทูบ ไลน์ เป็นต้น จะมีการกำหนดอัตราเพดานสูงสุดไว้ในกฎหมาย ให้เสียภาษีหักที่จ่ายไม่เกิน 15% โดยผู้จ่ายเงินเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งให้กรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดอัตราที่แท้จริงอีกครั้ง ซึ่งภาษีจะมีหลายอัตรา ตามประเภทการประกอบธุรกิจ

แหล่งข่าวระบุว่า ผู้แสดงความคิดเห็นต่างตั้งข้อสังเกตถึงการกำหนดนิยามของผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีรายได้ที่ต้องเสียภาษี รวมถึงการชำระภาษี ว่าเป็นอย่างไร และจะทำให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจมากน้อยขนาดไหน ซึ่งกรมสรรพากรได้ทำการชี้แจงการแสดงความเห็นต่างๆ ให้มากที่สุด

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การที่ต้องเปิดรับแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 77 สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษี จะทำให้เกิดปัญหามาก และการออกกฎหมายล่าช้า เพราะไม่มีใครเห็นด้วยกับการเก็บภาษีอยู่แล้ว หากไม่แก้ไขก็จะทำให้การออกกฎหมายภาษีมีปัญหาทำได้ยาก

“กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจาก สนช.ซึ่งก็ยังไม่แล้วเสร็จ” รมว.คลัง กล่าว

สำหรับการออกกฎหมายเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีของกรมสรรพากร และการเก็บรายได้โดยรวมของรัฐบาล เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องไปเพิ่มอัตราภาษีอื่นๆ โดยเฉพาะการเก็บอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปัจจุบันลดการเก็บจากอัตรา 10% เป็น 7%