posttoday

คลังออกพันธบัตรออมทรัพย์

15 พฤศจิกายน 2560

คลังเตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ 1.5 หมื่นล้านขายประชาชนและนิติบุคคล ไม่จำกัดวงเงินซื้อต่อราย 27 พ.ย.นี้

คลังเตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ 1.5 หมื่นล้านขายประชาชนและนิติบุคคล ไม่จำกัดวงเงินซื้อต่อราย 27 พ.ย.นี้

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า คลังจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังให้กับประชาชน วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท รุ่นอายุ 3 ปี และ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ แบบไร้ใบตราสาร จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2560-30 มี.ค. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมและเป็นทางเลือกในการลงทุนของประชาชน

ทั้งนี้ พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.85% ต่อปี รุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.45% ต่อปี วงเงินซื้อต่อราย 1,000 บาทขึ้นไป และไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง

สำหรับตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยสามารถทำรายการ ซื้อผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารตัวแทนจำหน่ายทุกสาขา เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) และทำรายการระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งของธนาคารตัวแทนจำหน่าย

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิซื้อ ได้แก่บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมี ถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม วัด สถานศึกษา ของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ หรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2561 ทาง สบน.กำหนดเป้าหมายการออกพันธบัตรออมทรัพย์ใน วงเงินใกล้เคียงกับปีก่อนคือ 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2561 มีวงเงินรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แยกเป็น แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 5.82 แสนล้านบาท และแผนการบริหารหนี้เดิมวงเงิน 9.2 แสนล้านบาท และแผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้กรอบวงเงิน 1.61 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ สบน.ได้จัดทำหนังสือแนวทางการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ และมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีการบริหารต้นทุนและดูแลความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ให้รัฐวิสาหกิจกระจายภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะ 1-3 ปี เพื่อลดความเสี่ยงการปรับโครงสร้างหนี้ และคำนึงถึงเครื่องมือกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างตามสภาวะตลาด

ขณะที่แผนระดมทุนของรัฐบาลในปี 2561 เน้นกู้เงินในประเทศเป็นหลักเพราะมีปัจจัยบวกคือ สภาพคล่องในประเทศที่มีอยู่สูง เพราะยอดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินทรงตัว

รวมทั้งเพิ่มกลยุทธ์การออกพันธบัตร 5-50 ปี เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุน และเตรียมแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์เท่ากับปีก่อน คือ 3 หมื่นล้านบาท แลให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถออกพันธบัตรเป็นเงินบาทได้

พร้อมกันนี้ ยังคาดว่ายอดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ปี 2561-2565 จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับอยู่ที่ 42.7% 44.8% 46.9% 48.6% และ 49.6% ต่อจีดีพี