posttoday

คนไทยพร้อมเฮ เปย์ผ่านคิวอาร์โค้ด

14 พฤศจิกายน 2560

ประเทศไทยเริ่มที่จะก้าวสู่สังคมไร้เงินสด โดยล่าสุดมีความคืบหน้าในการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ประเทศไทยเริ่มที่จะก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยล่าสุดมีความคืบหน้าในการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และต้องถือว่าไทยถือเป็นประเทศอันดับแรกๆ ที่ทำ QR Payment หรือชำระเงินด้วย QR Code แบบมาตรฐานเดียว ซึ่งถือเป็นสิ่งดี เพราะจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการชำระเงินในประเทศไทย

ปลดล็อก 5 แบงก์ลุยคิวอาร์โค้ด

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้อนุญาตให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมทดสอบการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดผ่านพร้อมเพย์ ซึ่งมีความพร้อมและผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ออกจากเรกูลาทอรี่แซนด์บ็อกซ์ สามารถให้บริการเป็นการทั่วไปได้ จำนวน 5 ราย จากจำนวนทั้งหมด 8 ราย ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ ธปท.ได้พิจารณาความพร้อมครอบคลุมเรื่องสำคัญ คือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารความเสี่ยง การคุ้มครองผู้บริโภคและความปลอดภัย รวมทั้งการเตรียมสาขาและคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของ 5 ธนาคาร ที่ผ่านการทดสอบในครั้งนี้เป็นการชำระเงินที่ต่อยอดจากบริการพร้อมเพย์ โดยลูกค้าสามารถใช้โมบายแอพพลิเคชั่นของธนาคารที่ได้รับอนุญาตสแกนคิวอาร์โค้ดมาตรฐานที่ร้านค้าเพื่อชำระเงินได้ทันที เหมาะกับการชำระเงินพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อน เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลาดสด แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น

ในระยะต่อไป ธนาคารจะมีการทดสอบบริการเพิ่มเติมให้สามารถรองรับแหล่งเงินได้มากขึ้น อาทิ บัตรเครดิต และต่อยอดบริการชำระเงินใหม่ๆ นอกจาก 5 ธนาคารที่ได้รับอนุญาตในครั้งนี้ ธนาคารอื่นที่อยู่ระหว่างการทดสอบโครงการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดก็มีผลการทดสอบที่ดี ซึ่ง ธปท.จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

เคทีซีผงาดคิวอาร์โค้ดบัตรเครดิตเจ้าแรก

วุฒิชัย เจริญผล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอที บริษัท บัตรกรุงไทย เปิดเผยว่า เคทีซีเผยได้รับอนุมัติจาก ธปท.ให้นำเทคโนโลยีการชำระเงินคิวอาร์โค้ดบัตรเครดิต เข้าทดสอบในเรกูลาทอรี่แซนด์บ็อกซ์แล้ว โดยจะเริ่มทดลองบริการตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.นี้ เป็นต้นไป นับเป็นสถาบันการเงินรายแรกในประเทศไทยที่เริ่มให้บริการคิวอาร์โค้ดบัตรเครดิต

ทั้งนี้ เคทีซี ได้พัฒนาบริการคิวอาร์โค้ดบัตรเครดิตที่ตอบสนองการใช้งานทั้งฝั่งผู้ถือบัตรเครดิต ซึ่งลูกค้าทำรายการได้อยู่ในโมบายแอพ แท็ปเคทีซี และฝั่งร้านค้า ที่สามารถดาวน์โหลดแอพ แท็ปเคทีซีเมอร์ชานท์ (TapKTC Merchant) โดยสามารถรองรับการชำระเงินผ่านเครือข่ายทั้งวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด

สำหรับพื้นที่ทดสอบการใช้ภายใต้แซนด์บ็อกซ์มี 4 พื้นที่ ได้แก่ ตลาด อ.ต.ก. ตลาดลุงเพิ่มหลังการบินไทย ตลาดหัวมุมเกษตรนวมินทร์ และร้านค้าบริเวณซอยสุขุมวิท 31 และสุขุมวิท 33 รวมประมาณ 50 ร้านค้า มุ่งเน้นร้านค้าขนาดกลางถึงเล็กที่ไม่เคยรับบัตรเครดิตมาก่อน พร้อมรับการชำระเงินตั้งแต่หลักสิบบาท

“ค่าธรรมเนียมในเบื้องต้นยังเป็นเรตที่ใช้ปกติ กำลังรอเครือข่ายผู้ให้บริการสรุปต้นทุนที่ลดลงจากการใช้คิวอาร์โค้ด ซึ่งเชื่อว่าน่าจะถูกกว่าเครื่องอีดีซี แต่ระหว่างนี้เคทีซีจะมีโปรโมชั่นให้ร้านค้าที่อยู่ในแซนด์บ็อกซ์เพื่อจูงใจ”วุฒิชัย กล่าว

วีซ่าตะลุยทำตลาดบัตรเดบิต

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า วีซ่า ได้รับใบอนุญาตจาก ธปท. เป็นเครือข่ายบัตรเดบิตแล้ว ตามเงื่อนไขของ ธปท.ที่กำหนดให้ธุรกรรมผ่านบัตรเดบิตต้องเป็นระบบชำระเงินในประเทศ (Local Card Scheme) โดยวีซ่าได้ร่วมมือกับพันธมิตร บริษัทเนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ ซึ่งการชำระเงินผ่านบัตรเดบิตวีซ่านั้น ธุรกรรมจะวิ่งผ่านระบบของไอทีเอ็มเอ็กซ์

ทั้งนี้ วีซ่า พร้อมช่วยยกระดับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย โดยเตรียมนำเทคโนโลยีวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) มาช่วยธนาคารวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค พร้อมเสริมสิทธิประโยชน์และโปรโมชั่น ดึงดูดร้านค้าและผู้บริโภคให้หันมาใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตแทนเงินสดมากขึ้น ผลักดันประเทศไทยเป็นสังคมลดใช้เงินสด

เบื้องต้นมีธนาคารสมาชิก 9 ราย ที่ตกลงใช้บัตรเดบิตวีซ่า จำนวนร้านค้าที่รับบัตรเดบิตวีซ่า 1.5 แสนร้านค้า และจำนวนผู้ถือบัตรเดบิตวีซ่า 38 ล้านใบ จากจำนวนบัตรเดบิตทั้งประเทศ 50.2 ล้านใบ

ปัจจุบันมีเครือข่ายผู้ให้บริการระบบชำระเงินในประเทศไทย (Local Card Scheme) 3 ราย ซึ่งนอกจาก วีซ่าแล้ว ยังมีเครือข่ายพร้อมการ์ด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมาสเตอร์การ์ดและไอทีเอ็มเอ็กซ์ รวมทั้งเครือข่ายไทยเพย์เมนต์เน็ตเวิร์ก (ทีพีเอ็น) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงเทพและยูเนี่ยนเพย์ นรัฐ 9% และนักลงทุนอื่นๆ อีก 1%