posttoday

ธอส.เติมสินเชื่อเพิ่มล้านราย

11 พฤศจิกายน 2560

ธอส.เตรียมใช้บิ๊กดาต้า ปล่อยกู้ลูกค้าเก่ากว่า 1 ล้านราย อนุมัติเร็วทันใจ

ธอส.เตรียมใช้บิ๊กดาต้า ปล่อยกู้ลูกค้าเก่ากว่า 1 ล้านราย อนุมัติเร็วทันใจ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม และกระทรวงการคลังมีแผนขับเคลื่อนกระทรวงการคลังสู่การเป็นกระทรวงการคลังดิจิทัล ในส่วนของ ธอส. เตรียมเสนอแนวทางการพัฒนาฐานข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่กว่า 1.5 ล้านราย โดยจะเริ่มที่การพิจารณาปล่อยสินเชื่อ โดยจะใช้ฐานข้อมูลเดิมในการปล่อยกู้เพิ่ม หรือกรณีที่ขอสินเชื่อไปแล้วเมื่อผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ลูกหนี้เริ่มมีงานทำที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็สามารถนำข้อมูลทางการเงินขอให้ลูกหนี้ยื่นขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้กู้และสถาบันการเงินได้รับความสะดวกในการขอสินเชื่อ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้รวดเร็วมากขึ้นจากขั้นตอนปกติ

"ธอส.เตรียมความพร้อมข้อมูล ลูกหนี้ รองรับนโยบาย 4.0 โดยจะเริ่มจากลูกหนี้สินเชื่อก่อน ซึ่งจะพัฒนาระบบการอนุมัติสินเชื่อที่อิงจากฐานข้อมูลที่มีมาพิจารณารวมกับข้อมูลใหม่ ทำให้การอนุมัติสินเชื่อทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น" นายฉัตรชัย กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เรียกผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทั้ง 55 แห่ง เพื่อบูรณาการการทำบิ๊กดาต้า และ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น และกำหนดให้รัฐวิสาหกิจมีการ ทำโครงการต้นแบบ เพื่อไปนำเสนอในการสัมมนาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ (ซีอีโอ ฟอรั่ม) ในหัวข้อการบริหารจัดการ บิ๊กดาต้า และดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยจะมีการนำเสนอในงานสัมมนา ผู้บริหารสูงสุดรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจัดขึ้นใน วันที่ 24 พ.ย.นี้ ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยท่านรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังจะเข้าร่วมสัมมนาดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ธอส. ตั้งเป้าปี 2560 ปล่อยสินชื่อใหม่ 1.78 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารสิ้นปีนี้ได้ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นบัญชีผู้กู้เงิน 1.5 ล้าน ราย โดยผลการดำเนินงานล่าสุด 16 ต.ค. 2560 ธอส. มีกำไรสุทธิ 9,048 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) 14.42% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 8.50% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล อยู่ที่ 4.61% โดยปี 2561 ธนาคารตั้งเป้าลดให้เหลือให้ต่ำกว่า 4% เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่มีเอ็นพีแอลไม่เกิน 3% โดย ส่วนหนึ่งจะขายเอ็นพีแอลให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่สนใจนำไปบริหารต่อ เป็นการช่วยลดภาระบุคลากร และค่า ใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งทางการเงิน มากขึ้น สามารถปล่อยกู้ได้เพิ่ม