posttoday

ทีดีอาร์ไอชี้ช่องโหว่ สวัสดิการแห่งรัฐ

19 ตุลาคม 2560

นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยของรัฐนั้นกำลังเป็นที่จับตา

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยของรัฐนั้นกำลังเป็นที่จับตา วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดทำบทวิจัยเรื่องถอดบทเรียนนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการประชารัฐสวัสดิการ โดยระบุว่า รัฐบาลยังไม่ได้ใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ และพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อคัดกรองประชาชนได้ละเอียดมากขึ้น พร้อมทั้งแนะสวัสดิการแห่งรัฐในระยะที่ 2 ควรเพิ่มการฝึกอาชีพเพิ่มด้วย ทั้งนี้รัฐใช้บิ๊กดาต้าเชื่อมฐานข้อมูลคัดกรองคนจน ป้องกันสิทธิรั่วไหล

วิชสิณี กล่าวว่า การจัดทำฐานข้อมูลของโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2560 อาจพบการรั่วไหลของผู้ใช้สิทธิ เพราะเงื่อนไขการคัดกรองสิทธิ อ้างอิงจากรายได้และการถือครองทรัพย์สินเป็นหลัก และยังไม่ได้ใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่รัฐจัดเก็บจากการลงทะเบียน เช่น นักเรียน นักศึกษา จากครอบครัวฐานะดี แต่ยังไม่เคยเปิดบัญชีธนาคารหรือมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือกรณีมีการโยกย้ายบิดเบือนข้อมูลรายได้และทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิ

ทั้งนี้ จากการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายในมาตรการไฟฟ้าฟรี เป็นข้อมูลที่บิดเบือนได้ยากกว่าข้อมูลรายได้และทรัพย์สิน ดังนั้นการใช้การเชื่อมฐานข้อมูลหรือบิ๊กดาต้ามาใช้ร่วมคัดกรอง การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยอาจเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะข้อมูลพฤติกรรม การใช้จ่าย เช่น การใช้น้ำ การใช้ไฟฟ้าของผู้ที่มาลงทะเบียน หรือการใช้บริการทางการเงินต่างๆ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์เพิ่มเติมในการคัดกรองจะได้ครอบคลุมและลดการรั่วไหลให้น้อยที่สุด อาจจะลดได้ถึง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน

“มาตรการไฟฟ้าฟรีในปัจจุบันจะให้กับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วย และใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งสามารถคัดกรองพฤติกรรมการใช้ของผู้มีรายได้น้อย และไม่ให้รั่วไหลไปยังครัวเรือนนอกกลุ่มเป้าหมายได้ค่อนข้างดี เพราะจะบอกว่าแต่ละเดือนการใช้จ่ายไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือนอยู่ที่เท่าไร หากมากเกินไปแล้วมีกำลังจ่าย ยังถือว่าเป็นผู้มีสิทธิรับสวัสดิการอยู่หรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติการคัดกรองอาจทำได้ยากเพราะจำนวนเยอะ แต่เป็นเพียงข้อเสนอแนะในการช่วยเสริมการคัดกรอง ไม่ควรเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง”

นอกจากนี้ สวัสดิการที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ เห็นด้วยกับการให้วงเงินในบัตรไปใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็น 200-300 บาท/ราย แต่ในส่วนของค่าเดินทางเพื่อลดภาระค่าครองชีพ อาจไม่ตอบโจทย์ในทุกครัวเรือน เพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายและชีวิตความเป็นอยู่ต่างกัน ทุกครัวเรือนมีพฤติกรรมที่ต่างกัน โดยเบื้องต้นจากที่ได้รับฟังนโยบายจากผู้ออกนโยบาย อาจจะมีการปรับเกณฑ์การคัดกรอง และสวัสดิการที่ให้อาจปรับให้มีความเหมาะสมในปีต่อๆ ไป

ขณะเดียวกัน ในหลักเศรษฐศาสตร์การให้เงินสดอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า เพราะผู้มีรายได้น้อยสามารถบริหารและนำไปใช้ตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า และยังให้ผู้ผลิตสินค้าพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจูงใจผู้บริโภค แต่ทางรัฐบาลมีความกังวลเกี่ยวกับหากได้เงินไปจะนำไปใช้ซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น อย่างสุรา ยาสูบ ซึ่งไม่ได้เป็นการแบ่งเบาภาระขั้นพื้นฐานที่แท้จริง

ส่วนสวัสดิการแห่งรัฐในระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดช่วยเหลือผ่านผู้อยู่ใต้เส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/ปี ผ่านการโอนเงินภาษี หรือ Negative Income Tax นั้น ส่วนตัวการให้เงินเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องให้ผู้ที่มีสิทธิ ฝึกฝน และให้เข้ามาในระบบบัญชีของสถาบันการเงิน เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลจะได้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ได้ดีขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในปี 2559 มีประชากรอยู่ใต้เส้นความยากจน 5.8 ล้านคน แต่ในขณะที่ข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในปี 2560 มีผู้ที่มีรายได้และทรัพย์สินอยู่ใต้เส้นความยากจนถึง 8.4 ล้านคน ซึ่งมีความไม่สอดคล้องของตัวเลข อาจมีความเป็นไปได้ของการรั่วไหลของสิทธิ ซึ่งจะนำไปสู่ความบิดเบือนของกลไกและภาระอุดหนุนในโครงการประชารัฐสวัสดิการที่สูงเกินความจำเป็น