posttoday

ธปท.ยันฐานะ5แบงก์ใหญ่แข็งแกร่ง

26 กันยายน 2560

ธปท.ยืนยันฐานะ 5 แบงก์ใหญ่แข็งแกร่ง แจงการประกาศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและรองรับความเสี่ยงในอนาคต

ธปท.ยืนยันฐานะ 5 แบงก์ใหญ่แข็งแกร่ง แจงการประกาศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและรองรับความเสี่ยงในอนาคต

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  กล่าวว่า การประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ กรุงเทพ (BBL) กรุงไทย (KTB) กรุงศรีอยุธยา (BAY) กสิกรไทย (Kbank) และไทยพาณิชย์ (SCB) มีความเสี่ยงต่อนัยในเชิงระบบนั้นเพราะต้องการดำเนินการให้เป็นมาตรฐานสากลตามเกณฑ์บาเซิล 3ที่ต้องการให้ธนาคารที่เข้าเกณฑ์ 4 ด้าน และเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส)ตามกำหนด คือ ต้องมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนทุนเจ้าของที่ 7.5%ในปี2562 และ 8% ในปี 2563 จากปัจจุบันที่เกณฑ์ของธปท.กำหนดให้ต้องมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ 7%หรือต้องมีทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ 0.5% และมีเงินกองทุนรวมไม่ต่ำกว่า12% ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาต่อฐานะของธนาคารทั้ง 5 แห่งแต่อย่างใดเนื่องจากเงินกองทุนของธนาคารทั้ง 5 แห่งในปัจจุบันเกินเกณฑ์บาเซิล 3อยู่แล้ว โดย ณ ไตรมาส 2 ปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.3%และนอกจากดูทุนให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์แล้วก็จะให้ 5ธนาคารนี้รายงานธุรกรรมที่ถี่ขึ้นเป็นทุกเดือน จากเดิมให้รายงานทุกไตรมาส

"การประกาศเพิ่มเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในอนาคต(คอนเซอร์เวทีฟบัฟเฟอร์) หรือ เพิ่มเงินกองทุนเป็นการทำให้ฐานะธนาคารทั้ง5 แห่งแข็งแรงมากขึ้น จากที่แข็งแรงอยู่แล้วเช่นเดียวกับฐานะของธนาคารพาณิชย์ในระบบอื่นๆก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องฐานะและเงินกองทุนแต่อย่างไรก็ดีในอนาคตอาจจะขยับเกณฑ์ดูแลเงินกองทุนที่มีนัยเชิงระบบตามบาเซิล3 ออกไปธนาคารอื่นๆด้วย ถ้าเงื่อนไงในเชิงเศรษฐกิจเปลี่ยนโดยธปท.จะทบทวนทุก 2-3 ปี"นางฤชุกรกล่าว

นางฤชุกร กล่าวว่า ส่วนเรื่องการแห่ถอนเงินฝากของคนต่างจังหวัด จาก 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่เข้าเกณฑ์ในการดูแลความเสี่ยงเชิงนัยเชิงระบบครั้งนี้ตามที่เป็นข่าวนั้นขณะนี้ธปท.ยังไม่ได้รับรายงาน แต่จะติดตามการไปถอนเงินอย่างใกล้ชิดต่อไปแต่การบังคับใช้เกณฑ์นี้ในต่างประเทศก็อาจจะมีความตื่นตระหนกและมีการไปถอนเงินฝากบ้างเป็นเรื่องปกติแต่ไม่ได้มากจนสร้างปัญหาให้ระบบธนาคาร

ทั้งนี้ การพิจารณาปัจจัยที่มีนัยในเชิงระบบต่อเศรษฐกิจ 4 ด้านประกอบด้วย 1) ขนาดของสถาบันการเงิน 2) ความเชื่อโยงในธุรกรรมระหว่างกัน3) การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญหรือการเป็นผู้ให้บริการหลักในโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงินและ4) ความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือกระบวนการดำเนินธุรกิจ

ธปท.ยันฐานะ5แบงก์ใหญ่แข็งแกร่ง