posttoday

ธปท.คุมเข้ม 5 ธนาคารใหญ่

26 กันยายน 2560

ธปท.คุมเข้ม 5 แบงก์ใหญ่ หลังพบมีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่กว่าจีดีพี เป็นความเสี่ยงเชิงระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ธปท.คุมเข้ม 5 แบงก์ใหญ่ หลังพบมีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่กว่าจีดีพี เป็นความเสี่ยงเชิงระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงนาม โดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 โดยมีเนื้อหากำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงของประเทศ

ธปท.ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 5 แห่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างสูง การดำเนินงานโดยไม่หยุดชะงักเป็นเรื่องสำคัญ ธนาคารมีขนาดสินทรัพย์ที่ใหญ่ มีความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินและระบบการเงินสูง มีผลิตภัณฑ์การเงินที่ ซับซ้อน และเป็นผู้ให้บริการหลักในผลิตภัณฑ์การเงินหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ จึงจำเป็นต้องดูแลอย่างเข้มงวดกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป

ทั้งนี้ ธปท.จะกำกับดูแลธนาคารดังกล่าว ตามมาตรฐานหลักเกณฑ์บาเซิล 3 ให้มี ความสามารถรองรับความเสียหายได้มากขึ้น ลดโอกาสที่ธนาคารทั้ง 5 แห่งจะประสบปัญหา ทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก

"ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ธนาคารทั้ง 5 แห่งนี้จะต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ที่สูงขึ้น และต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่นๆ ที่มากกว่าธนาคารทั่วไป อย่างไรก็ดีแม้ธนาคารทั้ง 5 แห่งจะถูกกำหนดให้เป็นธนาคารที่มีนัยต่อความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจไทย ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารจะได้รับการช่วยเหลือจากทางการโดยปริยายในกรณีที่ประสบปัญหาสภาพคล่องหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น" ประกาศ ธปท.ระบุ

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบรวมกันมีมูลค่า 18 ล้านล้านบาท โดย 70% ของสินทรัพย์ทั้งหมดเป็นของ 5 ธนาคาร ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจ

"ความหมายของประกาศนี้คือ ธนาคาร ทั้ง 5 แห่งนี้ห้ามมีปัญหา ซึ่งก็หมายความว่า ธปท.จะต้องดูแลการให้มีการบริหารความเสี่ยง อย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารเศรษฐกิจ โดยในต่างประเทศก็มีการประกาศชื่อ ธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกัน" นายเชาว์ กล่าว

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การที่ ธปท.ประกาศดังกล่าวเป็นการใช้กฎตามบาเซิล 3 ซึ่งเป็นระบบที่ทั่วโลกมีการใช้กัน ที่กำหนดให้ธนาคารที่มีนัยต่อระบบเศรษฐกิจจะต้องมีความเข้มงวดในการตั้งสำรองเงินกองทุน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเหมือนกับในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้มีการตั้งสำรองเงินกองทุนตามกฎบาเซิล 3 มาแล้ว 5 ปี ซึ่งปัจจุบันมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ราว 14% มีความเพียงพอมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอยู่ที่ 8.5% ซึ่งสามารถที่จะครอบคลุมความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมถึงการ เตรียมปล่อยสินเชื่อใหม่ๆ