posttoday

สินเชื่อรถเก๋ง/จักรยานยนต์ ครองแชมป์หนี้เสียครัวเรือน

07 กันยายน 2560

ธปท.พบหนี้เสียครัวเรือนกระจุกตัวอยู่กับนันแบงก์ และสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์แชมป์หนี้เน่า

ธปท.พบหนี้เสียครัวเรือนกระจุกตัวอยู่กับนันแบงก์ และสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์แชมป์หนี้เน่า

นางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วยอึ๊งภากรณ์ (สศป.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง "X-Ray พฤติกรรมการกู้ของ คนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร" พบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยมีสัญญาเงินกู้ 3 สัญญาและมีจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ 2 แห่ง แต่มี 1 ใน 6 ของคนไทย มีเงินกู้ถึง 5 สัญญา และ 1 ใน 10 ที่ใช้สถาบันการเงิน 5 แห่ง

ทั้งนี้ สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นหนี้เสียถึง 24% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการรถคันแรกที่กระตุ้นให้ผู้กู้ที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่ตลาดรถยนต์ ส่วนสินเชื่อรถจักรยานยนต์พบว่าผู้กู้ถึง 37% เป็นหนี้เสีย โดยสันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากรายได้ที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับสินเชื่อรถจักรยานยนต์เงินดาวน์ต่ำ ทำให้เมื่อไม่มีเงินผ่อนผู้กู้ก็ยอมทิ้งรถ

นอกจากนี้ ผู้กู้จำนวนมากจะมี สินเชื่อกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นันแบงก์) มีคุณภาพหนี้ที่ไม่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้กู้กลุ่มอายุน้อย ผู้กู้ที่มี สินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญา หรือมีกับหลายสถาบันการเงิน มักจะมีคุณภาพหนี้ที่ด้อยกว่ากลุ่มที่มี 1 สัญญา และตรงกันข้ามกับสินเชื่อบัตรเครดิต

สำหรับนโยบายที่จะมากำกับดูแลหนี้ครัวเรือนไทยต้องมุ่งเป้าไปที่สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งการจำกัดจำนวนสัญญาและสถาบันการเงิน ต้องมุ่งเน้นกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยและอายุมากอีกด้วย

"ขณะนี้กำลังติดตามมาตรการที่ ธปท. ปรับลดวงเงินการให้สินเชื่อ บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลว่าจะส่งผล อย่างไรต่อภาวะหนี้ครัวเรือนในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าจะดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนได้" นางโสมรัศมิ์ กล่าว

ด้าน น.ส.อัจจนา ล่ำซำ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย ศสป. กล่าวว่า แม้หนี้เสียจากการซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์จะสูง แต่ก็ไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีผู้กู้น้อยกว่าสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมาก จึงยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาดูแลเป็นพิเศษ