posttoday

คลังโชว์รายได้ทะลุ1.9ล้านล. 10เดือนเก็บเงินเกินเป้า

31 สิงหาคม 2560

คลังกระเป๋าตุงเก็บ รายได้ 10 เดือนแรก 1.91 ล้านล้าน สูงกว่าประมาณการ 6,700 ล้าน ดันเงินคงคลัง2.58แสนล้าน ยันใช้ภาษีที่ดินปี'62

คลังกระเป๋าตุงเก็บ รายได้ 10 เดือนแรก 1.91 ล้านล้าน สูงกว่าประมาณการ 6,700 ล้าน ดันเงินคงคลัง2.58แสนล้าน ยันใช้ภาษีที่ดินปี'62

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ (สศค.) เปิดเผยว่า การเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 มีจำนวน 1.91 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,755 ล้านบาท สาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมาย 2.96 หมื่นล้านบาท การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 2.48 หมื่นล้านบาท และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตสูงกว่าเป้าหมาย 6,375 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาษีของกรมสรรพากรจัดเก็บได้ 1.4 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6.03 หมื่นล้านบาท ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 4.12 หมื่นล้านบาท การเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จัดเก็บได้ 3.58 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.48 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยของปี 2559 ต่ำกว่าข้อสมมติฐานที่ใช้ในการทำประมาณการ ทำให้กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีลดลง

ด้านกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 8.67 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.27 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 1.37 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผลกระทบของการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ระยะที่ 2

นายกฤษฎา กล่าวว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดใน ช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลมีรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท ใน ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 2.51 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 4.51 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2560 มีจำนวน 2.58 แสนล้านบาท

"การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ผ่านมา ได้ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ที่ขยายตัวได้ถึง 3.5% ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้" นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเริ่มใช้ได้ในปี 2562 จากเดิมที่ตั้งใจจะใช้ในปี 2561 เนื่องจากต้อง เตรียมพร้อมระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกฎหมายยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งอีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นปี 2560 หากเริ่มใช้ในปี 2561 จะเตรียมตัวไม่ทันและจะทำให้การเก็บภาษีมีปัญหา

สำหรับประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายที่ สนช.พิจารณา คือเรื่องการยกเว้นภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยบ้านหลังแรก 50 ล้านบาทมากเกินไป และการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนให้กับการดำเนินกิจการบางประเภท เช่น โรงเรียน สถานศึกษา และสนามกีฬา เป็นต้น