posttoday

ธปท.จัดระเบียบการชำระเงินใหม่

19 สิงหาคม 2560

ในโลกดิจิทัลระบบการชำระเงินผ่านออนไลน์มีความสำคัญ ปัจจุบันการโอนเงินชำระเงินไม่ใช่สถาบันการเงินเท่านั้นที่ทำธุรกิจนี้

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

ในโลกดิจิทัลระบบการชำระเงินผ่านออนไลน์มีความสำคัญ ปัจจุบันการโอนเงินชำระเงินไม่ใช่สถาบันการเงินเท่านั้นที่ทำธุรกิจนี้ ภาคเอกชนทั่วไปก็มีบริการชำระเงินเอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะที่กำกับดูแลระบบการเงิน จะต้องเป็นหัวหอกหลักที่เข้ามาจัดระเบียบและรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับการชำระเงินทั้งหมดปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย และเป็นมาตรฐานสากลและเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญต้องคุ้มครองดูแลผู้ใช้บริการให้มีความเป็นธรรมและปลอดภัย

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ต่อไป เบื้องต้นคาดว่าน่าจะประกาศได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ปีนี้

ทั้งนี้ หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลายไตรมาสแรกหรือต้นไตรมาส 2 ปีหน้า วัตถุประสงค์หลักที่ ธปท.จัดทำ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงินก็เพื่อจะรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการชำระเงินทั้งหมดว่าไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน

จากเดิมที่การกำกับดูแลต้องอิงกฎหมาย 3 ส่วน คือ 1) พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ที่ใช้กำกับสถาบันการเงิน 2) ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ที่ใช้ดูแลบริษัทผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นันแบงก์) และ 3) พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ที่ดูแลบริการด้านต่างๆ ของสถาบันการเงิน นันแบงก์ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่กฎหมายใน 2 ส่วนแรกไม่ได้ครอบคลุมถึง

ดังนั้น เพื่อจัดการกำกับดูแลใหม่ให้เป็นระบบ และมีการดูแลที่เป็นมาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงิน รวมทั้งเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็จะมีการดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการที่จ่ายเงินไปล่วงหน้าหรือโอนเงินผ่านบริการต่างๆ ให้มั่นใจในการใช้บริการมากขึ้น

เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เงินที่รับชำระมาล่วงหน้าจากประชาชนผู้บริโภคต้องแยกบัญชีไว้ต่างหากห้ามนำมารวมกับการบริหารจัดการทั่วไป เช่นการให้บริการบัตรเติมเงิน (อี-มันนี่) กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ต) ที่รับเติมเงินจากประชาชนมาก่อน แต่ยังไม่ได้ใช้ต้องยกบัญชีให้เงินมีจำนวนที่พร้อมจะให้คนใช้ได้หรือหักชำระได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังทำให้ผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับการชำระเงินประมาณ 111 ราย ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน 36 ราย ทั้งหมดต้องมายื่นขอใบอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนใหม่ด้วย เพราะใบอนุญาตเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป

สำหรับการกำกับดูแลตามกฎหมายใหม่จะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ให้บริการระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับ เช่น บริษัท ไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ บริษัท โปรเฟสชั่นนัล คอมพิวเตอร์ เป็นต้นซึ่งจะต้องขอใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกลุ่มที่เป็นผู้ให้บริการชำระเงินภายใต้การกำกับ เช่น ธนาคารพาณิชย์ นันแบงก์ ที่ให้บริการออกบัตรเดบิต เครดิต และอี-มันนี่ เป็นต้น จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนกับ ธปท.

 “กฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญในการดูแลผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์หรือนันแบงก์ หรือผู้ให้บริการอื่นๆ ที่ให้บริการชำระเงิน ไม่ว่า บัตรเติมเงิน อี-มันนี่ อี-วอลเล็ต โอนชำระเงิน ฯลฯ ห้ามนำเงินของลูกค้าที่จ่ายเติมเงินไว้ล่วงหน้าไปใช้เพื่อการบริหารงานอื่น ต้องดำรงไว้รองรับการชำระเงินของลูกค้าเท่านั้น กฎหมายฉบับนี้ระบุเอาไว้ในข้อกฎหมายเลยว่า หากบริษัทผู้ให้บริการล้มก็ห้ามนำเงินของลูกค้าไปรวมในกองล้มละลาย และกฎหมายใหม่นี้ยังจะกำหนดเงินทุนจดทะเบียนใหม่เพื่อความมั่นคงโดยทุนจดทะเบียนจะเพิ่มตามความเสี่ยงของการให้บริการ แต่การบริการแต่ละประเภทต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำเท่าไรนั้น ขอให้รอดูรายละเอียดตามประกาศ” สิริธิดา กล่าว

ขณะที่กรณีบริษัท เพย์ออล ที่เคยปฏิบัติผิดเกณฑ์ของ ธปท.นั้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาตามเกณฑ์ได้ ปัจจุบันจึงยังสามารถเปิดให้บริการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวน แต่การให้บริการในส่วนนี้อาจให้บริการได้ตามปกติ

ด้าน ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การรวบรวมกฎหมายหรือเกณฑ์การกำกับมาไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกันน่าจะช่วยให้การกำกับดูแลของผู้กำกับมีอำนาจที่ชัดเจนขึ้น จากการรวมศูนย์การกำกับดูแลมาไว้ในที่เดียว

ทั้งนี้ จากเดิมแยกไปหลายส่วน อีกอย่างผู้เล่นก็เข้าสู่ตลาดจำนวนมากและหลากหลาย อาทิ เทสโก้ สถาบันการเงิน นันแบงก์ ผู้ให้บริการจากต่างประเทศ ฯลฯ ทำให้การส่งข้อมูลหรือเกณฑ์ในการดูแลอาจไม่ทั่วถึง และมีขั้นที่จะส่งผ่านหลายจุด แต่เมื่อมี พ.ร.บ.มาดูแลเฉพาะก็ช่วยให้การกำกับมารวมอยู่ในจุดเดียวเป็นวันสต็อปเซอร์วิส และดูแลได้ทั่วถึง สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันให้กับผู้เล่นได้มากขึ้น ธปท.เองก็สามารถดูแลการให้บริการชำระเงินได้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบการชำระเงินที่ ธปท.จัดทำได้มากขึ้นด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องเงินทุนจดทะเบียนของผู้ให้บริการที่กฎหมายใหม่อาจกำหนดให้ดำรงเพิ่มขึ้น ตามความเสี่ยงการให้บริการเพื่อความมั่นคงนั้น ในแง่ของผู้ให้บริการที่เป็นธนาคารพาณิชย์คงไม่มีปัญหา เพราะมีเงินกองทุนสูงและมีเพียงพออยู่แล้ว