posttoday

คลังเพิ่มวงเงินแก้หนี้หลังแห่ขอรีไฟแนนซ์เกินคาด

17 สิงหาคม 2560

แก้หนี้นอกระบบฉลุย ลูกหนี้ขอเข้าโครงการใกล้เต็มวงเงินหมื่นล้าน คลังเตรียมขอวงเงินสินเชื่อให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.เพิ่ม

แก้หนี้นอกระบบฉลุย ลูกหนี้ขอเข้าโครงการใกล้เต็มวงเงินหมื่นล้าน คลังเตรียมขอวงเงินสินเชื่อให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.เพิ่ม
         
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้กับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แห่งละ 5,000 ล้านบาท รวมกันเป็น 1 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยกู้แก้ไขหนี้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งที่ผ่านทั้งสองธนาคารปล่อยกู้ไปแล้ว กว่า 3,000 ล้านบาท
         
"รัฐบาลสนับสนุนการแก้ไขหนี้นอกระบบได้ชดใช้หนี้เสียให้กับทั้งสองธนาคาร 40% เพื่อธนาคารไม่ต้องกังวลเรื่องการปล่อยกู้ ซึ่งปกติหนี้เสียของจากการปล่อยกู้ผู้มีรายได้น้อยจะไม่เกิน 30% และหากทั้งสองธนาคารปล่อยกู้เต็มวงเงิน คลังก็จะเสนอขยายเงินกู้ให้เพิ่มอีก" นายกฤษฎา กล่าว
         
นายกฤษฎา กล่าวว่า จากข้อมูลลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย มีคนที่เป็นหนี้นอกระบบ 1.3 ล้านราย เป็นมูลหนี้ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งคลังได้เร่งตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้การช่วยเหมือนกับการช่วยเหลือแม่ค้าตลาดหลังกระทรวงการคลัง ซึ่งทำให้ภาระชำหนี้ลดลงมากจากเดือนละ 6,000 บาท เหลือเดือนละ 255 บาทเท่านั้น สามารถนำไปเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นให้ชีวิตให้ดีขึ้น
         
"ตัวอย่างที่เห็นได้จากการลงพื้นที่ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแบบบูรณาการ หลังพบว่ามีแม่ค้ารายหนึ่งมาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการจากรัฐ แจ้งข้อมูลว่าเป็นหนี้นอกระบบจำนวน 3 หมื่นบาท เสียอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน หรือ 6,000 บาท/เดือน เพื่อมาลงทุนทำสลัดหมูยอขาย
         
สำหรับการลงพื้นที่แก้ไขได้มี เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินสาขากระทรวงการคลัง ลงพื้นที่และรับเรื่องจะปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แม่ค้ารายดังกล่าว เพื่อนำไปใช้หนี้นอกระบบลดภาระดอกเบี้ยได้มาก สามารถนำเงินดังกล่าวมาขยายการค้าได้เพิ่มขึ้น คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะอนุมัติสินเชื่อได้" นายกฤษฎา กล่าว
         
นอกจากนี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ยังได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในการขับเคลื่อนแก้ไขหนี้นอกระบบให้ไม่มีในจังหวัด โดยให้ฝ่ายปกครองดำเนินคดีกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ปล่อยกู้เกิน 15% ต่อปี โดยมีช่องทางให้เจ้าหนี้ดังกล่าวเข้ามาอยู่ในระบบจดทะเบียนเป็นพิโกไฟแนนซ์ปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36%