posttoday

ทางสู้ยังพอมี

14 สิงหาคม 2560

โครงการเมกะโปรเจกต์กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งโครงการระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

โดย...ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย

โครงการเมกะโปรเจกต์กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งโครงการระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เชื่อว่าจะยกระดับเศรษฐกิจไทยขึ้นสู่อีกระดับ ด้วยการขับเคลื่อนจากอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำในเอเชีย เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และจีน

โครงการเหล่านี้รัฐต้องการจะดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาตั้งโรงงานผลิตและหน่วยวิจัยบนแผ่นดินไทย โดยมีมาตรการทางกฎหมายที่เอื้ออำนวย รวมทั้งการลดภาษี กระบวนการทั้งหมดนี้เชื่อว่ารัฐบาลเข้าใจและเดินมาถูกทาง อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดเป็นหัวใจของการจะยกระดับประเทศขึ้นไปได้ คือ “การพัฒนาศักยภาพของพลเมือง” ยังถือเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย

ครั้นจะวิ่งตามประเทศชั้นนำก็คงไม่ง่าย เพราะแต่ละชาติล้วนลงทุนทำการวิจัยขั้นสูงมาต่อเนื่องยาวนาน และทุกประเทศจะพัฒนาได้ก็ล้วนต้องมีตัวช่วยมาก่อนทั้งสิ้น เช่น ญี่ปุ่น ก็เรียนรู้มาจากทั้งเยอรมนีและอเมริกา ไต้หวันและเกาหลีก็รับทำให้ญี่ปุ่นและอเมริกามาก่อนเช่นกัน แม้แต่มหาอำนาจอย่างจีน เมื่อก่อนก็รับจ้างทำของจากทุกบริษัทชั้นนำทั่วโลก แต่วันนี้ไม่เพียงแต่ทำเองได้ ยังส่งออก และยังแข่งกันได้กับบริษัทที่เคยมาจ้างทำของด้วยซ้ำไป

ทั้งหมดนี้เกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยจีนยอมเปิดตลาดภายในประเทศให้บริษัทต่างชาติเข้ามาได้ หากมาร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ร่วมกับบริษัทจีน แถมสิทธิประโยชน์มากมาย และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเข้ามาทำวิจัยร่วมกับบริษัท เพื่อเป็นกลไกการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ แล้วนำมาสร้างหลักสูตรสอนคนจีนรุ่นใหม่ ให้เข้าใจเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างลึกซึ้ง จนสามารถต่อยอดพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ปัจจุบันจีนจึงทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด จนถึงรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงมาก ระบายแทบไม่ทัน รัฐบาลจีนรู้ปัญหานี้ดีจึงเร่งพัฒนาโครงการอีไต้อีลู่ หรือวันเบลต์วันโรด (One Belt One Road) เพื่อขยายช่องทางระบายสินค้าสู่ทั่วโลกให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

ส่วนหนึ่งก็พาดผ่านประเทศไทยเพื่อลงไปสู่ปลายแหลมมลายู เชื่อมโยงจีนกับอาเซียนโดยสมบูรณ์ แน่นอนว่าไทยย่อมได้ประโยชน์จากเรื่องการท่องเที่ยว และมีสาธารณูปโภคใหม่ไว้ใช้ แต่หากลองคิดให้ลึกว่า เมื่อจีนสามารถขจัดปัญหาเรื่องการขนส่ง ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องมาลงทุนตั้งโรงงาน หรือมาร่วมทุนกับบริษัทไทย เพราะผลิตที่ประเทศแม่ก็ลดต้นทุนได้ไม่ต่างกัน ดังนั้นหากมองว่าไทยจะได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากจีนในการผลิตก็อาจฝันสลาย เพราะซื้อจากจีนถูกกว่า ดีกว่า สุดท้ายไทยก็ไม่มีโอกาสพัฒนา

หนทางรอดของไทยจึงไม่ใช่จากการผลิตสินค้าระดับกลางถึงล่าง แต่คงต้องเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น การสร้างเทคโนโลยีการแพทย์ และเทคโนโลยีเกษตร เพราะไทยมีแพทย์เป็นที่ยอมรับระดับโลก น่าเสียดายที่ยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีทางการแพทย์เกือบทั้งหมด ขณะที่มีการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค

ดังนั้นถือเป็นโอกาสในการเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีขั้นสูงทางการแพทย์ เพื่อใช้เองภายในประเทศ และเชื่อว่ามีโอกาสที่จะเป็นประเทศผู้ส่งออกได้เช่นกัน

ขณะที่ทางเทคโนโลยีเกษตร ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่มีผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายมากกว่าประเทศอื่น จึงมีกรณีศึกษาได้จำนวนมาก หากคิดจะพัฒนาเทคโนโลยีทั้งทางด้านการเพาะปลูก และการแปรรูป ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องจักร และเทคโนโลยีชั้นสูงไว้ใช้เอง หรือจะส่งออกไปต่างประเทศ ก็ย่อมมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่น

เชื่อว่าทางสู้เพื่ออนาคตของไทยยังพอมี จะสู้ไม่สู้เท่านั้นเอง