posttoday

กสิกรคุมสินเชื่อรายใหญ่

11 สิงหาคม 2560

กสิกรไทยโตรายใหญ่แบบระวัง กระจายสินเชื่อแต่ละกลุ่มไม่เกิน 15% เน้นกลยุทธ์ปล่อยสินเชื่อร่วม

กสิกรไทยโตรายใหญ่แบบระวัง กระจายสินเชื่อแต่ละกลุ่มไม่เกิน 15% เน้นกลยุทธ์ปล่อยสินเชื่อร่วม

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า คุณภาพสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามอย่างระมัดระวัง โดยที่บางรายมีความอ่อนแอตามสถานการณ์ โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มที่เติบโตก้าวกระโดด โดยไม่มีฐานะการเงินรองรับ เช่น อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบแรงจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารจึงเน้นกลยุทธ์กระจายตัวของกลุ่มลูกค้า โดยจะปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมประมาณ 12% ในกรณีที่อุตสาหกรรมใดอ่อนไหวจะได้ไม่กระทบในภาพรวม

นอกจากนี้ การให้สินเชื่อลูกค้าในวงเงินสูงระดับ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป จะใช้รูปแบบการปล่อยสินเชื่อร่วม ตั้งแต่ 2 สถาบันการเงินขึ้นไป (ซินดิเคทโลน) เพราะมีข้อดีเพื่อกระจายความเสี่ยงของธนาคารและได้รับรู้ข้อมูลของลูกค้าเท่าเทียมกัน เพราะทุกธนาคารยึดนโยบายรักษาความลับลูกค้าไม่เปิดเผยข้อมูลให้กัน

"หากลูกค้ารายใหญ่เริ่มเป็นปัญหา จะเข้าไปพูดคุย หรือแนะนำให้ไปคุยกับเจ้าหนี้โดยตรง ส่วนกรณีฟื้นฟูกิจการลูกค้า ก็ตามกระบวนการที่แบงก์หยุดเรียกร้องหนี้ ให้ลูกค้าได้หายใจ ซึ่งต้องใช้เวลา" นายสุวัฒน์ กล่าว

สำหรับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เน้นความเพียงพอ ที่ผ่านมาตั้งสำรองทุกวงเงินกู้ตามมาตรฐาน ส่วนครึ่งปีหลังจะตั้งสำรองเพิ่มหรือไม่นั้นต้องดูตามสถานการณ์ โดยปีนี้มั่นใจว่าจะควบคุมเอ็นพีแอล ไม่เกิน 2% น้อยกว่าภาพรวมเอ็นพีแอลของธนาคารที่ตั้งเป้าไม่เกิน 3.2%

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรก 2560 สินเชื่อลูกค้ารายใหญ่โต 8% ซึ่งอุตสาหกรรมเด่น ได้แก่ กลุ่มพลังงาน เกษตรแปรรูป และอสังหาริมทรัพย์ และคาดว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจยังขยายตัวได้จากการลงทุนภาครัฐ การส่งออก ส่งผลให้การเติบโตของ สินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 4-6% จากยอดคงค้าง 5.11 แสนล้านบาท เมื่อสิ้นปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อหมุนเวียนที่ชำระคืนเร็ว จึงไม่ปรับเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีรายได้รวมเติบโตไม่น้อยกว่า 3%

นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ครึ่งปีหลังต้องการตอบโจทย์การระดมทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นการจัดโครงสร้างระดมทุนหลากหลาย ขณะนี้มีดีลไอพีโอ 3-4 ดีล ดีลซินดิเคทโลนประมาณหลักหมื่นล้านบาทจากมูลค่ารวมหลักแสนล้านบาท และดีลซื้อและควบรวมกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) ทั้งในและต่างประเทศหลายดีลเช่นกัน