posttoday

อุ้มลูกหนี้รายได้น้อย ห้ามอายัดคนเงินเดือนต่ำกว่า2หมื่น

11 กรกฎาคม 2560

กรมบังคับคดีแจง 4 ก.ย.นี้ ห้ามอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีเงินได้ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่น

กรมบังคับคดีแจง 4 ก.ย.นี้ ห้ามอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีเงินได้ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่น

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ก.ย. 2560 เจ้าหนี้จะอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ที่จะมีผลบังคับใช้โดยกฎหมายได้ ที่ระบุใจความสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มาตรา 302

“กฎหมายได้ปรับรายได้หรือเงินเดือน จากเดิมกำหนดว่า 1 หมื่นบาทแรก เป็น 2 หมื่นบาทแรก ไม่สามารถอายัดได้นั้น เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินไว้ดำรงชีพ และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป” น.ส.รื่นวดี กล่าว

อย่างไรก็ดี ก่อนออกกฎหมายได้เชิญสมาคมธนาคารไทยมารับฟังความคิดเห็นก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด และกฎหมายนี้จะไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งลูกหนี้ที่ถูกอายัดเงินเดือนไปก่อนหน้านี้หากมีปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ สามารถจะติดต่อเจ้าหนี้ขอลดวงเงินอายัดได้

น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า ปัจจุบันมียอดคดีอายัดคงค้าง (คดีค้างมาและคดีใหม่) จำนวน 1.47 แสนเรื่อง ทุนทรัพย์ 9.58 หมื่นล้านบาท มีคดีเพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ เช่น พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลำปาง ลำพูน เป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีคดีเป็นหลักหมื่นคดี

ขณะเดียวกันได้มอบหมายเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีลงพื้นที่ในโรงงานแต่ละจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติอายัดเงินเดือน ซึ่งตามกฎหมายนายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนพนักงานที่ศาลมีคำสั่งอายัดเงินเดือน เพื่อส่งเงินอายัดให้กรมบังคับคดี และทางกรมจะรวบรวมเงินให้เจ้าหนี้ต่อไป นอกจากนี้กรมบังคับคดีจะอำนวยความสะดวกให้เพิ่มช่องทางการนำส่งเงินอายัดมากขึ้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ กรมบังคับคดีจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อตรวจสอบสถานะการอายัดเงิน ให้ลูกหนี้ที่ถูกอายัดเงินเดือนสามารถตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในแต่ละเดือนว่าจ่ายไปแล้วเท่าใด รวมทั้งมีแผนเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้นายจ้างที่หักเงินเดือนที่ถูกอายัดส่งกรมบังคับคดี สามารถโอนเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้