posttoday

เศรษฐกิจ ศิลปะ จิตวิญญาณ

09 กรกฎาคม 2560

พ่อแม่เกาหลีมักสนับสนุนให้ลูกๆ เรียนศิลปะวิทยาการทางด้านใดด้านหนึ่งตั้งแต่เล็กเพื่อการพัฒนาสมองซีกซ้ายและขวาให้สมดุลกัน

โดย...ดร.​เพียงออ เลาหะวิไลย [email protected]

พ่อแม่เกาหลีมักสนับสนุนให้ลูกๆ เรียนศิลปะวิทยาการทางด้านใดด้านหนึ่งตั้งแต่เล็กเพื่อการพัฒนาสมองซีกซ้ายและขวาให้สมดุลกัน ก่อนที่จะรู้ว่า “แท้จริงแล้วลูกตนเองถนัดอะไร” สมองซีกไหนโดดเด่นกว่ากัน...

สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ในการ “ตัดสินด้วยเหตุผล” โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยรับรู้มาก่อน เช่น การใช้ตรรกะตัดสินในการใช้ภาษา การเขียน การอ่าน การคำนวณตัวเลขและทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ส่วนสมองซีกขวาเป็นเรื่องของ “การสร้างสรรค์” คือ สร้างความเข้าใจ การเห็นภาพสามมิติ ความรู้สึกดื่มด่ำต่อศิลปะ ความมีสุนทรียะด้านดนตรี เพลง และการสร้างจินตนาการ

ยิ่งไปกว่านั้น หลายปีมานี้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยที่น่าเชื่อถือหลายแห่ง ระบุผลสรุปจากการทดลองจริงตรงกันว่า “หากเด็กได้เรียนดนตรี (โดยเฉพาะเปียโน) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะสามารถเพิ่มความจำและ IQ ได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” เนื่องจากในขณะที่เล่นดนตรีผู้เล่นต้องใช้สมองในการทำงานเพิ่มขึ้นทั้งซีกซ้ายและขวา ทำให้กระแสไฟฟ้าเชื่อมโยงประสาทในสมองทำงานอย่างเต็มที่ เปรียบเทียบได้กับพลุดอกไม้ไฟที่จุดสว่างไสวไปทั่วสมองเวลาเล่นดนตรี จึงทำให้มีสมาธิและเกิดการพัฒนาสมองได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เรียนดนตรีใดๆ...ดังนั้น แทบทุกบ้านของชนชั้นกลางเกาหลีจะมีเปียโนของลูกหลานตั้งอยู่...เปียโนยี่ห้อเกาหลีผลิตเองคุณภาพดีมี 2 ยี่ห้อค่ะ แต่ละเจ้าผลิตมากว่า 60 ปี ทำให้การซื้อหาเปียโนไม่ได้เป็นภาระหนักของผู้ปกครองแต่อย่างใด

หลังเศรษฐกิจเอเซียตกต่ำดิ่งเหวในปี 1997 (เกิดจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ของไทยก่อน) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีจนต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ประเทศใหม่ ให้เป็น “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” สร้างสินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง ดังนั้น การริเริ่มจับเอาวัฒนธรรม “ฮัน-รยู” หรือ Korea-Wave เช่น K-Drama (ละครโทรทัศน์เกาหลี) K-Pop (นักร้อง ดนตรีเกาหลี) K-Book (วรรณกรรมเกาหลี) K-Food (อาหารเกาหลี) มาเป็นจุดขายใหม่ ถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดของเกาหลี เพราะแม้เวลาผ่านไปเกือบ 17 ปีแล้ว แต่ความนิยมเกาหลีในประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังคงแรงอยู่ และจำนวนแฟนคลับในประเทศใหม่ๆ ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นอาทิตย์นี้ที่แฟนๆ งอน ซงจุงกิ ที่ประกาศจะแต่งงาน)

เศรษฐกิจ ศิลปะ จิตวิญญาณ

กว่าจะเป็น K-Wave อยู่ดีๆ ไม่ใช่ว่าได้มาง่ายๆ นะคะ ในช่วงต้นของการพัฒนา K-Wave รัฐบาลใช้เงินทุนไปราว 2,872 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างทั้ง “กองทัพคนป้อนเข้าสู่วงการบันเทิงและระบบแวดล้อม” ขึ้นมารองรับธุรกิจทางวัฒนธรรม (ถ้าเป็นแถวๆ นี้ คงมีประชดประชันปิดล้อมประท้วงข้อหาใช้เงินผิดประเภท) ผ่านมา 17 ปี K-Wave กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวของเกาหลีประสบความสำเร็จอย่างมาก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ล้านคน/ปี มาเป็น 17 ล้านคน ประมาณการว่าผลทางเศรษฐกิจที่ได้จากการส่งออกทางวัฒนธรรม K-Wave มีมูลค่าปัจจุบันราว 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ทุกวันนี้ อาชีพศิลปินในเกาหลีไม่ว่าจะเป็นด้านบันเทิง นักแต่งเพลง นักร้อง นักดนตรี หรือผู้ทำงานสร้างสรรค์ ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม นักเขียน หรือแม้แต่ Food Designer จึงเป็นที่ยอมรับนับถือและมีรายได้ดี ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจต้องใช้ศิลปะเพื่อเข้าถึงจิตใจคน เมื่อศิลปะเข้าไปอยู่ในธุรกิจจึงเป็นเอกลักษณ์จุดขายเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เช่น ทุกวันนี้มีเพื่อนที่บินจากเมืองไทยไปเรียนการแต่งหน้าขนมเค้กที่เกาหลี เพราะเขาตกแต่งหน้าเค้กดอกไม้ได้สวยหยดย้อยมาก อาจเรียกได้ว่าหลังจากปรับเศรษฐกิจฐานอุตสาหกรรมเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) แล้ว สิ่งที่เกาหลีได้เพิ่มมา คือ การก้าวเข้าสู่ “ยุคศิลปะวิทยาการ” อย่างสมบูรณ์

ยกตัวอย่างบ้านเมืองเกาหลีที่ได้ไปเห็นเมื่อราว 30 ปีก่อน สมัยนั้นเกาหลียังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ตึกอาคารต่างๆ ในเมืองยังคงเป็นแท่งๆ พอให้มีประโยชน์ใช้งานได้ แต่ทุกวันนี้อาคารต่างๆ มีการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ประดับประดาด้วยศิลปะ มีพื้นที่และช่องว่างให้คนที่ใช้งานรู้สึกถึงความสบาย

เศรษฐกิจ ศิลปะ จิตวิญญาณ

เห็นได้ชัดว่า เมื่อเศรษฐกิจดี การพัฒนาศิลปะก็เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะผู้คนมีเวลาชื่นชมกับ “จิตวิญญาณงานศิลปะ” มากขึ้น มีการสะสมผลงานทำให้ราคาของงานศิลปะสูงขึ้น เพิ่มคุณค่าของงานศิลปะอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญา มีการขยายตัวของวงการศิลปะสู่สังคมวงกว้าง ทำให้จํานวนศิลปินเพิ่ม และเกิดความหลากหลายของผลงาน เมื่อมีผู้สนใจและผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้น พื้นที่แสดงงานศิลปะก็เพิ่มขึ้นตาม จะเห็นได้ว่าถนนหนทางในกรุงโซล ซึ่งเป็น Creative City แอบมีงานศิลปะตกแต่งอยู่ทั่วไป และมูลนิธิเพื่อศิลปะและวัฒนธรรมของเอกชนเกิดขึ้นมากมายในเกาหลี

“มูลนิธิฮันเซเยส 24” ก็เป็นมูลนิธิส่งเสริมวัฒนธรรมเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่ทำงานเข้มแข็งมาก ในระหว่างวันที่ 12-18 ก.ค.นี้ จะเป็นผู้จัดงานนิทรรศการ “The Spirit of Thailand” ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศเกาหลี และศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีแห่งประเทศไทย แสดงผลงานทางศิลปะจากประเทศไทยเพื่อฉลองครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เกาหลี โดยจะนำผลงานทางศิลปะชิ้นเอก 60 ชิ้น ของศิลปินร่วมสมัยไทย อาทิศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร อาจารย์ปรีชา เถาทอง และท่านอื่นๆ อีก 18 ท่าน ไปจัดแสดงที่หอนิทรรศการ อินซาดงอาร์ทเซ็นเตอร์ กรุงโซล เลขที่ 188 กวันฮุนดง จงโรกู  กรุงโซล  (โทร. 02-736-1020)

เป้าหมายของงาน คือ ให้ชาวเกาหลีรู้จักผลงานทางศิลปะของไทย และทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายเพื่อเกิดกิจกรรม แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ท่านใดแวะไปเกาหลีช่วงนี้อย่าลืมจัดเวลาไปชมงานค่ะ บางชิ้นหาชมยากเพราะไม่ได้จัดแสดงที่ไหนแล้ว...และต้องขอบคุณเจ้าภาพอย่างยิ่งที่จะนำ “จิตวิญญาณของไทย” ที่แฝงอยู่ในงานศิลปะไปเผยแพร่ให้คนเกาหลีได้รู้จักค่ะ...