posttoday

ชงครม.ขยายเวลาช่วยชาวนาไร่ละพัน

08 กรกฎาคม 2560

ธ.ก.ส.เตรียมเสนอ ครม.ขยายเวลาโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท และค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

ธ.ก.ส.เตรียมเสนอ ครม.ขยายเวลาโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท และค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาขยายโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/2560 หรือโครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

ทั้งนี้ ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 4.08 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรภาคใต้ที่เพาะปลูกข้าว ช้ากว่าพื้นที่อื่น และบางพื้นที่ถูกน้ำท่วม รวมถึงยังมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียน หลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว และมีบางส่วนที่ข้อมูลยังไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องตรวจสอบและแก้ไขให้ข้อมูลถูกต้องตรงกัน

"ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้เร่งดำเนินการเสนอเรื่องขอความเห็นชอบไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานทั้งสองโครงการแล้ว จากนั้นจะนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว" นายอภิรมย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. ทาง ธ.ก.ส.ได้โอนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/2560 ไร่ละ 1,000 บาท ไปแล้วกว่า 3.8 ล้านคน เป็นเงิน 3.21 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว มีเกษตรกรได้รับเงินโอนไปแล้วกว่า 3.7 ล้านคน รวม 3.16 หมื่นล้านบาท

สำหรับภาพรวมปล่อยสินเชื่อในปีบัญชีของธนาคารนี้ (เม.ย. 2560-มี.ค. 2561) คาดว่าจะเติบโต 8 หมื่นล้านบาท จะเน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อยกคุณภาพข้าวในระยะยาวมากขึ้น เป็นไปตามมติ ครม.ที่อนุมัติโครงการส่งเสริมการทำเกษตรนาแปลงใหญ่ และโครงการ ส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยยอมรับว่าปีที่ผ่านมาการทำเกษตรแปลงใหญ่ยังไม่มากนัก เพราะเป็นปีแรกทำให้ยังไม่กระจายในแต่ละพื้นที่ หลังจากนี้จะเข้าไปสนันสนุนมากขึ้น ทั้งการให้สินเชื่อ รวมถึงการปลูกข้าวอินทรีย์ เพื่อยกระดับมูลค่าให้สูงขึ้นด้วย

"ปีนี้เป็นปีที่มาตรการสนับสนุน จะเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะปีที่ผ่านมาเกษตรกรเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติแล้ง จึงต้องหามาตรการส่งเสริม มากขึ้น แต่ปีนี้คาดว่าราคาข้าวจะดีขึ้น ภัยธรรมชาติลดลง จึงเปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือเป็นการส่งเสริมด้าน เพิ่มมูลค่าข้าว เช่น ผลิตข้าวอินทรีย์ การรวมกลุ่มสหกรณ์ รวมถึงการ ทำประกันภัยพืชผล จะช่วยลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้" นายอภิรมย์ กล่าว

นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ความคืบหน้าจำนวนผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกับ ธ.ก.ส. ขณะอยู่ระหว่างรอการตรวจคุณสมบัติจากกระทรวงการคลังและมหาดไทย ว่าจะมีทั้งสิ้นกี่คน ยังไม่สามารถระบุได้ว่าในส่วนของผู้ลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส.จะผ่านคุณสมบัติกี่คน จากผู้ลงทะเบียนกับธนาคารรวมกว่า 7 ล้านคน