posttoday

ดัชนีผู้บริโภคมิ.ย.ลดต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ5เดือน

06 กรกฎาคม 2560

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย.อยู่ที่ 74.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่2 และต่ำสุดรอบ 5 เดือน ด้านโพลค่าใช้จ่ายวันอาสาหฬบูชาปีนี้เงินสะพัด 6,222 ล้านบาท

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย.อยู่ที่ 74.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่2 และต่ำสุดรอบ 5 เดือน ด้านโพลค่าใช้จ่ายวันอาสาหฬบูชาปีนี้เงินสะพัด 6,222 ล้านบาท

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.2560 ว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 74.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่2 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.พ.ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 75.8 และเป็นการปรับลดลงทุกรายการทั้งค่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต รวมถึงดัชนีภาวะค่าครองชีพ ส่วนค่าดัชนีเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองอยู่ที่ 81.4 ปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่5 และต่ำสุดรอบ 35 เดือนนับแต่เดือนส.ค.2557

ขณะเดียวกัน ภาวการณ์ใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่อยู่ที่ 80 ปรับลดลงจากเดือนพ.ค.ที่ 81.3 การซื้อบ้านหลังใหม่ปรับลดจาก 62.3 มาอยู่ที่ 61.3 การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวปรับลดจาก66.9 มาอยู่ที่ 65.7 และการลงทุนทำธุรกิจปรับลดจาก 44.1 มาอยู่ที่ 43 ซึ่งปรับลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่3 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ค่าดัชนีที่ลดลงเนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสับปะรดโรงงานลดลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวระดับต่ำและไม่คล่องตัว และผู้บริโภคยังกังวลค่าครองชีพ ที่รายจ่ายในปัจจุบันไม่สอดคล้องหกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และความกังวลสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสจะพบว่า ค่าดัชนีโดยรวมอยู่ในระดับทรงตัวถึงขยับขึ้นเล็กน้อย จึงเชื่อว่าเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ไม่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาพรวมทั้งปีนี้ และคาดว่าค่าดัชนีจะผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มดีขึ้นจากนี้

สำหรับผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วงเทศกาลวันอาสาหฬบูชาปี 2560 จาก 1,192 ตัวอย่าง คาดว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงดังกล่าวประมาณ 6,222.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 7.78% เป็นการเพิ่มสูงสุดในรอบ 6 ปีทั้งตัวมูลค่าและอัตราการขยายตัว โดยจะมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 5,355.6 ล้านบาท/คน ส่วนใหญ่ 55.6% เงินที่ใช้จ่ายมาจากเงินเดือน รองลงมา 31.7% มาจากเงินออม และอีก 11.7% มาจากโบนัส

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ 60.6% ใช้เงินในการทำบุญเพิ่มขึ้น 37.9% ใช้เงินเพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก และส่วนใหญ่ 91.1% มีแผนที่จะไปทำบุญ โดยกิจกรรมที่ที่ตั้งใจทำในวันอาสาหฬบูชาคือ การใส่บาตร ถวายสังฑทาน ทำทาน ถวายเงิน/ของ ปฎิบัติธรรม วิปัสสนา เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม โดยภาพรวม 57.1% ยังมองว่า บรรยากาศช่วงวันอาสาฬหบูชาปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน เพราะคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น มีสถานที่เที่ยวมากขึ้นและเป็นช่วงวันหยุดยาว

“มูลค่าการใช้จ่ายช่วงเทศกาลที่คาดว่าจะสะพัด 6,222 ล้านบาท หากนับรวมในกิจกรรมหมุนเวียนเช่น การทำบุญ ถวายสังฆทาน และการท่องเที่ยวก็น่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้รวมเป็นหมื่นล้านบาท และจะสังเกตได้ว่า ปีนี้คนไทยหันหน้าเข้าวัดทำบุญมากขึ้น เพื่อขอพรให้มีโชคลาภ ถูกหวย หน้าที่เจริญก้าวหน้า ขอให้มีความสุข หมดทุกข์และขอให้เศรษฐกิจ กิจการรุ่งเรืองดีขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว