posttoday

แบงก์หวั่นหนี้นอกระบบปูด

05 กรกฎาคม 2560

สมาคมธนาคารไทย ออกโรงเชียร์ ธปท.ดูแลวินัยการเงินคนไทย ยอมรับอาจมีผู้กู้บางส่วนเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน หันพึ่งหนี้นอกระบบ

สมาคมธนาคารไทย ออกโรงเชียร์ ธปท.ดูแลวินัยการเงินคนไทย ยอมรับอาจมีผู้กู้บางส่วนเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน หันพึ่งหนี้นอกระบบ

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหลักเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเห็นสัญญาณหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เห็นควรที่จะส่งเสริมให้คนไทยมีวินัยการใช้จ่าย ไม่ก่อหนี้เกินตัว สอดคล้องกับที่สมาคมธนาคารไทยแนะไม่ควรก่อหนี้เกิน 40% ของรายได้

"จากการที่ควบคุมวงเงินสินเชื่อต่อรายนั้น อาจส่งผลให้คนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อและไหลไปสู่หนี้นอกระบบได้ ซึ่งควบคุมยาก เพราะหากคนคนนั้นมีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ แต่วงเงินที่ได้รับในระบบไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย ก็ต้องทำทุกทางเพื่อที่จะได้เงินมารวมถึงการกู้เงินนอกระบบด้วย" นายปรีดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวทางของ ธปท.จะสร้างวินัยการเงินอย่างได้ผล เพราะอย่างน้อยก็ควบคุมวงเงินการก่อหนี้ได้ในระดับหนึ่ง เช่น นักศึกษาที่เพิ่งทำงาน หากได้ 5 เท่าของรายได้อาจเป็นการกระตุ้นให้ใช้จ่าย ดังนั้น วงเงินที่ให้ควรลดลงให้เหมาะสม เช่น เหลือ 3 เท่า ส่วนมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารไม่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจธนาคารจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยไม่ควรมองแต่ผลลบ เพราะด้านดีก็มี จากการที่คนไม่ใช้จ่ายเกินตัว ทำให้โอกาสการเกิดหนี้เสียน้อยลงไป ธนาคารก็ไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มเติม ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทย มียอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ประกอบด้วย สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

นายปรีดี กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อสถาบันการเงินในปีนี้ยังคงประเมินว่าจะเติบโต 3-5% ค่ากลางอยู่ที่ 4% หลังจากครึ่งปีแรกขยายตัว 3% โดยกำลังพิจารณาว่าเกณฑ์ใหม่ของ ธปท. และประเด็น พ.ร.ก.แรงงานจะกระทบกับ สินเชื่อหรือไม่ แต่เบื้องต้นแนวทางปฏิบัติการปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกันของธนาคารเข้มงวดอยู่แล้ว ไม่แตกต่างกับเกณฑ์ใหม่ที่ออกมา จึงมองว่าปัจจัยที่มีผลกับสินเชื่อธนาคารยังเป็นภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนภาครัฐ และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันทั้งระบบ ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นันแบงก์) มีจำนวน 6.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ 2.06 แสนล้านบาท และของนันแบงก์ 1.32 แสนล้านบาท ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับของธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 1.53 แสนล้านบาท และของนันแบงก์ 1.79 แสนล้านบาท