posttoday

ธุรกิจบริหารเงินเศรษฐีฮอต

03 กรกฎาคม 2560

ธนาคารกสิกรไทย เผยลูกค้าไพรเวทแบงก์สนให้ช่วยบริหารที่ดินและมรดก รองรับนโยบายการเก็บภาษีใหม่

ธนาคารกสิกรไทย เผยลูกค้าไพรเวทแบงก์สนให้ช่วยบริหารที่ดินและมรดก รองรับนโยบายการเก็บภาษีใหม่

นายนนท์ บุรณศิริ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว สายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกค้าระดับบนที่มีสินทรัพย์สูงหรือบุคคลที่มีสินทรัพย์และเงินลงทุน 50 ล้านบาทขึ้นไป มีความสนใจให้ธนาคารช่วยบริหารจัดการทรัพย์สิน หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดิน

ปัจจุบัน ธนาคารมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมด (เอยูเอ็ม) 7.6 แสนล้านบาท โดยมีจำนวนลูกค้า 10,300 คน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดลูกค้าไพรเวทแบงก์กิ้ง 43% ของกลุ่มลูกค้าระดับบนในประเทศไทย ซึ่งในจำนวนนี้ 20% มาปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดิน เพราะมีทรัพย์สินเป็นที่ดินเป็นจำนวนมาก และกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเก็บภาษีใหม่

ทั้งนี้ ธนาคารได้มีคำแนะนำการจัดการที่ดินประมาณ 5 รูปแบบ ได้แก่ การขายออก การปล่อยเช่า การพัฒนาที่ดินโดยเจ้าของเอง การพัฒนาโครงการร่วมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) ในลักษณะของการร่วมทุน (จอยท์เวนเจอร์) รวมทั้งการจับคู่ผู้ขายและผู้ซื้อ เพราะยังมีความต้องการซื้อที่ดินเพื่อขยายธุรกิจอยู่ เช่น ปลูกถั่วแระเพื่อส่งออก หรือทำโซลาร์ฟาร์ม เป็นต้น

“การเลือกรูปแบบการพัฒนาที่ดิน ธนาคารให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในเชิงลึกถึงปัจจัยแวดล้อมด้วย ทั้งลักษณะที่ดิน ทำเลที่ตั้ง และตลาด เช่น หากเป็นที่ดินในเมือง ลูกค้าอาจอยากทำโรงแรม แต่ทำเลนั้นธุรกิจโรงแรมที่พักล้นตลาดอยู่แล้ว ก็จะแนะนำทางเลือกอื่นให้ เรื่องการบริหารที่ดินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”นายนนท์ กล่าว

นายนนท์ กล่าวว่า การวางแผนส่งต่อธุรกิจและสินทรัพย์ไปสู่ทายาทรุ่นต่อไป เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ลูกค้าไพรเวทแบงก์ให้ความสนใจอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากภาษีมรดก แต่หลักใหญ่มาจากความต้องการให้ธุรกิจยังคงอยู่ต่อเนื่องไปยังคนรุ่นต่อไป ซึ่งธุรกิจมีความท้าทายจากการที่รุ่นลูกรุ่นหลานมีความต้องการที่แตกต่างออกไป

นอกจากนี้ ธนาคารได้นำองค์ความรู้ที่ได้จาก ลอมบาร์ด โอเดียร์ พันธมิตรไพรเวทแบงก์จากสวิตเซอร์แลนด์ ในการบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวอย่างครบวงจร พยายามมาปรับใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมในไทย โดยกำลังศึกษาการตั้งโครงสร้างกองทรัสต์ ที่โอนการบริหารให้มืออาชีพ โดยให้รุ่นลูกเป็นผู้ถือหุ้น

“รูปแบบหลายอย่างที่ไปศึกษาน่าสนใจมากที่น่าจะเป็นทางออกของการส่งต่อธุรกิจ แต่ยังทำไม่ได้ในไทยเพราะกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ยังไม่ได้เปิดกว้าง เช่น กองทรัสต์ในไทยยังจำกัดอยู่ที่เรื่องอสังหาริมทรัพย์”นายนนท์ กล่าว