posttoday

‘วิรไท’ มองบทเรียน จากวิกฤตเศรษฐกิจ

01 กรกฎาคม 2560

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ ในโอกาสครบรอบ 20 ปี

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ ในโอกาสครบรอบ 20 ปี หลังจากประเทศไทยได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ว่า วิกฤตได้ทำให้เกิดการเรียนรู้และมีการปรับตัวจากสภาวะปัจจุบัน 20 ปีที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาหลายด้านทำให้ความเปราะบางหายไป เริ่มจากกรอบการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจมหภาค การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว เงินดุลสะพัดสูง 12% ของจีดีพี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าหนี้ต่างประเทศ 3.5 เท่า มากกว่าหนี้ทั้งหมดเท่าที่มีไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐและหนี้ภาคเอกชนรวมกัน

ในขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็มีพัฒนาการหลายด้านมีการให้สินเชื่อกระจายความเสี่ยงมากขึ้น มีเงินกองทุนมากขึ้น และมีเงินสำรองหนี้ที่จะสูญสูงมาก และมีความสามารถการทำกำไร และให้ความสำคัญการบริหารความเสี่ยง ส่วนภาคธุรกิจได้เรียนรู้จากวิกฤต โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจหลักของตัวเอง ปรับรูปแบบธุรกิจ ธุรกิจมีความระมัดระวังการกู้เงินจากต่างประเทศ

มองไปข้างหน้าความท้าทายและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ถ้ามองสภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้โอกาสที่เกิดวิกฤตเหมือนปี 2540 คงจะไม่เกิด เพราะสถานะของประเทศไทยมีความเข้มแข็งมาก ไม่ว่าทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง หนี้ต่างประเทศ ระดับต่ำ ฐานะของสถาบันการเงินก็เข้มแข็งมาก วิธีการทำธุรกิจสถาบันการเงินมีการเปลี่ยนแปลงมีการบริหารความเสี่ยง

แต่เราก็ชะล่าใจไม่ได้ แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงเหมือนปี 2540 ในช่วงอันใกล้คงไม่มี แต่โลกก็เปลี่ยนตลอดเวลาและมีปัจจัยความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เราจะต้องจับตามอง เราจะต้องสร้างเกราะไม่ให้ความเสี่ยงนั้นนำมาสู่ปัญหาเชิงระบบที่นำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจไทย

ความเสี่ยงในอนาคตของภาคการเงินต้องระมัดระวังคือ วิกฤตภาคการเงินในโลกอาจจะกลับมาใหม่อีกทุก 40-50 ปี ซึ่งคนในแวดวงการเงินที่เคยผ่านวิกฤตมาแล้วอาจจะหมดรุ่นไป คนรุ่นใหม่จะไม่เห็นโทษของวิกฤตปี 2540 เพราะฉะนั้นก็จำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลและสถาบันการเงินจะต้องให้ความสำคัญการสร้างคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจและให้ความสำคัญถึงบทเรียนวิกฤตที่ผ่านมา 

เรื่องการบริหารความเสี่ยง มีวัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้บริหารรับความเสี่ยงจนเกินควรอันจะนำมาสู่ปัญหาเชิงระบบสถาบันและต้องการปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วมาก จะมีผลกระทบทุกภาคธุรกิจ ซึ่งสถาบันการเงินจึงต้องปรับตัวให้ทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้น

นอกจากนี้ ต้องระวังปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผลิตภาพความสามารถแข่งขันของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งจะต้องทำงานสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น เพื่อรองรับภาระผู้สูงอายุและต้องมีเงินออมระดับมากพอ บริหารจัดการวางแผนการเงินของตัวเองได้ เพื่อมีความมั่นคงการเงินระยะยาว

“วันนี้ยังเป็นข้อกังวลเพราะหลายธุรกิจการปรับตัวเรื่องเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เท่าทัน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องมีพัฒนาการที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่เพิ่มผลิตภาพ อีกด้านคือหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น หนี้มูลค่าสูงขึ้น และเป็นหนี้ยาวขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องต้องระมัดระวังมิฉะนั้นเมื่อคิดถึงเรื่องสังคมผู้สูงอายุและความมั่นคงระยะยาวทางการเงิน ปัญหาหนี้ครัวเรือนอาจเป็นจุดเปราะบาง ทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาวทั้งเศรษฐกิจมหภาคและครัวเรือนแต่ละคนมีปัญหาได้”

ปัญหาอีกด้านที่เป็นปัญหาอาจนำมาสู่ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาวคือ ความเหลื่อมล้ำ ช่วงกว้างมาขึ้นระหว่างคนรวยและคนฐานล่างของสังคม ธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดย่อม โดยเฉพาะเรื่องความสามารถการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถรับแรงปะทะต่างๆ ที่เกิดได้ในโลกที่มีความผันผวนสูง และเมื่อใดมีความเหลื่อมล้ำสูง การปฏิรูป เศรษฐกิจจะทำยากขึ้น การออกนโยบายมองไปข้างหน้าร่วมกันทำได้ยากขึ้น ความสามารถยกระดับเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะทำได้ไม่ง่าย

นอกจากนี้ ต้องระวังความเสี่ยงด้านต่างประเทศจะผันผวนมากขึ้น คาดเดายากขึ้น ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเศรษฐกิจประเทศใหญ่ๆ ด้านการเงิน การคลัง การกีดกันการค้า นโยบายเหล่านี้จะมีผลเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งหมดนี้ถ้าการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตระยะยาวมี 3 คำ คือ Productivity หรือ ผลิตภาพ Immunity คือ การสร้างภูมิคุ้มกันกันชนรองรับแรงปะทะ และ Inclusively (อินคลูซิวิตี้) การแน่ใจว่าผลประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้กระจายไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแรงขึ้น ทั้ง 3 คำ เป็น 3 คำสำคัญ เป็นหน้าที่หน่วยงานกำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน หรือประชาชน ที่ต้องช่วยกันเร่งเพิ่มผลิตภาพให้เศรษฐกิจสังคมไทย สร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเหลื่อมล้ำ