posttoday

ออมสินส่งตีความแก้หนี้ครู หลัง "สกสค."มีปัญหาบริหารกองทุน

26 มิถุนายน 2560

ธนาคารออมสิน เตรียมเสนอให้อัยการสูงสุดตีความข้อตกลงแก้หนี้ครู หวังยุติปัญหาใช้เงินกองทุนมาใช้หนี้แทนครูที่ผิดนัดชำระหนี้

ธนาคารออมสิน เตรียมเสนอให้อัยการสูงสุดตีความข้อตกลงแก้หนี้ครู หวังยุติปัญหาใช้เงินกองทุนมาใช้หนี้แทนครูที่ผิดนัดชำระหนี้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินเตรียมส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหน่วยงานกลาง ตีความเรื่องข้อตกลงในการติดตามทวงหนี้ครูระหว่างธนาคารออมสิน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ทำร่วมกันมานานกว่า 10 ปี โดยมีข้อตกลงว่า เพื่อเป็นการช่วยเรื่องภาระหนี้สินของครูธนาคารออมสินในขณะนั้น จะทำการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือครู โดยมีเงื่อนไขว่า ธนาคารออมสินจะให้ สกสค.ทำหน้าที่ในการติดตามทวงหนี้ โดยจะได้ค่าบริหารจัดการเป็นเงิน 0.5-1% ของหนี้ที่เรียกชำระได้ และในกรณีที่ สกสค.ไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้ ให้ สกสค.รับผิดชอบโดยการนำเงินที่ได้จากการทวงหนี้เอามาชำระหนี้แทนครูก่อน โดย สกสค.จะกลายเป็นเจ้าหนี้ครูในส่วนที่มีการชำระเงินแทนไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหาร สกสค.ใหม่ อาจทำให้มีการตีความในข้อตกลงที่ไม่ตรงกัน โดย สกสค.เห็นว่าเงินดังกล่าวไม่สามารถนำมาหักจากกรณีที่ครูไม่ชำระหนี้ได้ แต่เป็นเงินที่ธนาคารออมสินให้ไว้เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตครูจึงจะขอเงินส่วนที่ธนาคารออมสินเคยหักจากกองทุนดังกล่าวคืนมีวงเงินไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท

“ถ้าหากสิ่งที่ปฏิบัติมาเป็น 10 ปี ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีร่วมกันมานาน วันนี้เกิดความไม่เข้าใจตรงกัน จึงเห็นว่าเรื่องนี้ควรจะให้หน่วยงานที่มีความเป็นกลางอย่างสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ตีความหากยังคุยกันไม่รู้เรื่อง”นายชาติชาย กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สกสค.ได้เงินค่าติดตามทวงหนี้ครูเฉลี่ยเดือนหนึ่งกว่า 200 ล้านบาท ในช่วง 10 ปี ธนาคารออมสินจ่ายเงินค่าติดตามทวงหนี้ได้ สกสค.เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท แต่ช่วง 2-3 ปีหลัง มีครูที่ผิดนัดชำระหนี้มาก ทำให้ต้องนำเงินจากกองทุนมาใช้หนี้แทนครูเป็นเงิน 1 หมื่นล้านบาท และก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการบริหาร มีคณะกรรมการนำเงินกองทุนไปบริหารและลงทุนผิดพลาดหลายพันล้านบาท ขณะที่เงินค่าติดตามทวงหนี้ในปัจจุบันก็ไม่พอชำระหนี้แทนครูที่ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้เกิดการตีความเรื่องการใช้เงินก้อนนี้จึงทำให้ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้