posttoday

ธปท.ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่ซ้ำรอยวิกฤตปี 40

21 มิถุนายน 2560

ธปท.มั่นใจไร้วิกฤตซ้ำรอยปี 2540 ชี้ทุนสำรองประเทศสูงเกิน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ - ปี59 เกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 12% ของจีดีพี

ธปท.มั่นใจไร้วิกฤตซ้ำรอยปี 2540 ชี้ทุนสำรองประเทศสูงเกิน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ - ปี59 เกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 12% ของจีดีพี

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำเสอบทความซึ่งเป็นความเห็นส่วนบุคคลเรื่อง “วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 จากอดีตสู่ปัจจุบัน” ว่า การเกิดซ้ำของวิกฤตในรูปแบบที่เกิดขึ้นในปี 2540 กับเศรษฐกิจไทยแทบเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ไทยจะเปลี่ยนกลับไปตรึงค่าเงินแบบไว้กับเงินเหรียญสหรัฐเหมือนในอดีตอีก

อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางๆปีของทุกปี มักจะมีการแชร์ข้อมูลว่าเศรษฐกิจไทยสุ่มเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นแบบปี 2540 อีก โดยบ่อยครั้งจะโยงกับการขาดทุนที่เกิดจากการแทรกแซงค่าเงินของธปท. ผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ ปัญหาทางการเงินที่เกิดจากการแทรกแซงค่าเงินในปัจจุบันต่างจากอดีต คือ ปัจจุบันไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวค่าเงินบาท ที่กำหนดโดยกลไกตลาด ทำให้การโจมตีค่าเงินทำได้ยาก 

นอกจากนี้ ปัญหาในอดีต คือ เงินทุนไหลออก ซึ่งกดดันให้เงินบาทอ่อน แต่ปัจจุบันเป็นปัญหาของเงินทุนไหลเข้าซึ่งกดดันให้เงินบาทแข็งค่า จึงไม่เป็นปัญหาต่อการชำระคืนเงินกู้ในต่างประเทศเหมือนในอดีต  และการแทรกแซงค่าเงินก็ทำให้ทำสำรองระหว่างประเทศมีมากกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ความมั่นคงด้านต่างประเทศของธปท.ในปัจจุบันจึงไม่น่าเป็นห่วง  และการขาดทุนของธปท.ก็เป็นผลจากการตีราคาของทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินบาทลดลง เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อตีมูลค่าเป็นสกุลเงินบาทมีมูลค่า

และเดิมที่เมื่อปี 2540 เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยถือว่าง่อนแง่นเป็นอย่างมาก โดยนอกจากเงินสำรองระหว่างประเทศจะร่อยหรอแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัด หรือผลต่างของรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการกับรายจ่ายในการนำเข้าสินค้าและบริการ ยังขาดดุลสูง โดยในปี 2539 ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 8% ของมูลค่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ต่างจากปี 2559 ที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 12 % ของจีดีพี ขนาดเศรษฐกิจ

ที่สำคัญจุดอ่อนสำคัญที่จะนำไปสู่วิกฤตเหมือนปี 2540 ของเศรษฐกิจไทยได้ถูกปิดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนด้านความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน การพึ่งพาหนี้สกุลเงินต่างประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่มีจุดโหว่และไม่ทันการณ์ตัวอย่างของระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น เช่น การมีข้อมูลจีดีพีรายไตรมาสจากเดิมที่เป็นรายปี มีบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมีข้อมูลของทั้งตลาด ฯลฯ และเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันก็มีสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในประเทศยังไม่เข้าที่นัก โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังคงหดตัว  จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญท่ำให้คน ทั่วไปยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น การแชร์ข้อมูลที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจแบบปี 2540 อาจกลับมาทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจบางส่วนไม่กล้าลงทุน เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวได้ช้าและไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น