posttoday

รัฐเร่งการออม ปิดความเสี่ยงการคลัง

17 มิถุนายน 2560

ภาพรวมการออมของประเทศไทยถือว่ายังมีปัญหา โดยเฉพาะการออมของแรงงานในกลุ่มต่างๆ

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ภาพรวมการออมของประเทศไทยถือว่ายังมีปัญหา โดยเฉพาะการออมของแรงงานในกลุ่มต่างๆ ยังมีไม่เพียงพอที่จะใช้หลังเกษียณอายุ 60 ปี ทำให้รัฐบาลเร่งกฎหมายการออมของแรงงานกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลัง ศึกษาพบว่า แม้ว่าปัจจุบันไทยจะมีช่องทางการออมเพื่อการชราภาพครอบคลุมวัยแรงงานทุกกลุ่ม แต่รายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีเพียงกลุ่มข้าราชการที่มีรายได้หลังเกษียณเพียงพอ เฉลี่ย 70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย

ขณะที่แรงงานในระบบที่ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพียงช่องทางเดียว ได้แก่ ลูกจ้างภาคเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ และพนักงานของรัฐ จะมีรายได้หลังเกษียณเฉลี่ย 19% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ต่ำกว่าระดับ 50-60% ที่ควรจะเป็น ทำให้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะตกสู่ภาวะยากจนในวัยชรา

ล่าสุด กระทรวงการคลังเร่งผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. เพื่อให้ผู้ประกอบการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ จากเดิมเป็นภาคสมัครใจ โดยพบว่าแรงงานในระบบ 14 ล้านคน อยู่ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 3-4 ล้านคนเท่านั้น ที่เหลือไม่ได้อยู่เพราะปัญหาหลายประการ ที่สำคัญนายจ้างไม่ต้องการตั้งกองทุน เนื่องจากการส่งเงินสมทบทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

สำหรับกฎหมาย กบช.ที่บังคับให้ผู้ประกอบการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) ภายในปีนี้ กำหนดให้กิจการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องตั้งกองทุน กบช.ตั้งแต่ปีที่ 1 หลังกฎหมายบังคับใช้ ส่วนกิจการที่ลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป เข้าระบบ กบช.ในปีที่ 4 และกิจการที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไปเข้าระบบในปีที่ 6

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่าให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบอัตรา 3% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาท/เดือน โดยกำหนดเพดานค่าจ้างไม่เกิน 6 หมื่นบาท/เดือน และทยอยปรับเพิ่มอัตราเงินสะสมและเงินสมทบเป็น 5% 7% และ 10% ภายใน 10 ปี กรณีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน ให้นายจ้างส่งเงินในส่วนของนายจ้างฝ่ายเดียว

สำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 อยู่แล้ว หากมีการส่งเงินสะสมและเงินสมทบต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ กบช.กําหนด จะต้องเป็นสมาชิก กบช. และส่งเงินเข้า กบช.ไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำดังกล่าว

กระทรวงการคลังประเมินว่า กบช. จะทำให้แรงงานในระบบทั้ง 14 ล้านคน มีรายได้หลังเกษียณไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้สุดท้าย และทำให้การออมของประเทศเพิ่มขึ้น 6.4 หมื่นล้านบาทในปีแรก และเมื่อผู้ประกอบการเข้า กบช.ทั้งหมด เงินออมจะมีมากถึง 6.8 แสนล้านบาท ส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงงานนอกระบบอีก 24 ล้านคน ที่ต้องแก้ไขเรื่องการออม แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้แรงงานนอกระบบกลุ่มนี้มีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ แต่ 2 ปีที่ผ่านมา มีเป็นสมาชิกเพียง5 แสนกว่าราย จากเป้าหมายหาสมาชิก 1 ล้านรายภายในปีนี้ น้อยมากเมื่อเทียบกับแรงงานนอกระบบทั้งหมด

ปัญหาของ กอช. คือ เป็นกองทุนภาคสมัครใจ ไม่บังคับ ขณะที่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่อยู่ภาคเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะออม และยังมีปัญหาการสร้างความเข้าใจให้ผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้ออมระยะยาวไว้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องยาก มองไม่เห็นภาพว่าออมไปแล้วจะได้อะไร สะท้อนวิกฤตการออมของคนในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

และเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะหากแก้ไม่ได้รัฐบาลจะต้องใช้เงินงบประมาณปีละหลาย แสนล้านบาทเพื่อดูแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้