posttoday

คดีล้มละลายแตะ3.1ล้านล.

15 มิถุนายน 2560

กรมบังคับคดีระบุ 8 เดือน มีคดีล้มละลาย 4.8 หมื่นราย ทุนทรัพย์ 3.1 ล้านล้าน เตรียมจ่ายเงินคืนแชร์แม่นกแก้วอีก1.9พันล้าน

กรมบังคับคดีระบุ 8 เดือน มีคดีล้มละลาย 4.8 หมื่นราย ทุนทรัพย์ 3.1 ล้านล้าน เตรียมจ่ายเงินคืนแชร์แม่นกแก้วอีก1.9พันล้าน

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 2559-พ.ค. 2560) มีปริมาณคดีล้มละลายที่เข้าสู่การบังคับคดี 48,877 ราย คิดเป็นทุนทรัพย์ 3.10 ล้านล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้น 15,026 ราย คิดเป็นทุนทรัพย์ประมาณ 2.76 แสนล้านบาท สูงขึ้น 10.85% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2559 โดยในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณคดีล้มละลายเข้าสู่การบังคับคดี 48,055 คดี ทุนทรัพย์ 3.26 ล้านล้านบาท ดำเนินการสำเร็จสิ้น 13,555 ราย คิดเป็นทุนทรัพย์ 5.19 แสนล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าคดีล้มละลายแชร์แม่นกแก้ว ล่าสุดจะมีการแบ่งการชำระหนี้ครั้ง 6 โดยจะแบ่งให้เจ้าหนี้จำนวน 3,250 ราย วงเงิน 63 ล้านบาท อัตราส่วนแบ่ง 3.20% โดยในการจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ครั้งนี้กรมบังคับคดีจะให้เจ้าหนี้แสดงความประสงค์ว่าจะมารับเงินด้วยตนเอง หรือจะให้โอนเงินผ่านระบบอี-เพย์เมนต์ หรือโอนเงินบัญชีธนาคารได้

ทั้งนี้ แชร์แม่นกแก้วเป็นคดีตั้งแต่ปี 2528 มีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ 13, 058 ราย และศาลมีคำสั่งให้ชำระหนี้ 12,189 ราย คิดเป็นจำนวนหนี้ 1,977 ล้านบาท ที่ผ่านมากรมบังคับคดีได้การยึดอายัดทรัพย์และขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้คืนเจ้าหนี้แล้ว 5 ครั้ง รวมจำนวนเงิน 361 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมจะมีการเปิดการขายทอดตลาดทรัพย์สินในคดีล้มละลาย หมายเลขคดีแดงที่ ล.8194/2550 ประเภทวัตถุลักษณะคล้ายพลอย มูลค่าประเมิน 316 ล้านบาท นัดแรกในวันเสาร์ที่ 17 มิ.ย.นี้ และจะเปิดประมูลขายทอดตลาดเครื่องบินประมาณเดือน ก.ย.นี้

น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า กรมบังคับคดี มีภารกิจด้านการบังคับคดีแพ่ง การบังคับคดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ การวางทรัพย์ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การขับเคลื่อนภารกิจของกรมบังคับคดีเป็นกลไกที่สำคัญกลไกหนึ่งของประเทศในการอำนวยความยุติธรรม สร้างความเท่าเทียม และลดความ เหลื่อมล้ำของสังคม รวมทั้งช่วยเสริม สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอันมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2572 ซึ่งภารกิจที่สำคัญและถือเป็นงานหลัก คือ การผลักดันทรัพย์สินของกรมบังคับคดี โดยใช้นโยบาย 4 ร ในการดำเนินงาน ได้แก่ เร่งรัดการผลักดันทรัพย์สิน เร่งรัดติดตามคำสั่งศาล เร่งรัดการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ และเร่งรัดการประกาศขายทอดตลาด ตลอดจนการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา สนับสนุนการผลักดันทรัพย์ของกรมบังคับคดี