posttoday

ซีไอเอ็มบีแข่งดุให้กู้รายย่อย

30 พฤษภาคม 2560

ซีไอเอ็มบี ไทย ลุยสินเชื่อบ้านแลกเงิน กดดอกเบี้ยต่ำกว่า 6% เจาะกลุ่มรายได้ประจำ 3 หมื่นบาทขึ้น

ซีไอเอ็มบี ไทย ลุยสินเชื่อบ้านแลกเงิน กดดอกเบี้ยต่ำกว่า 6% เจาะกลุ่มรายได้ประจำ 3 หมื่นบาทขึ้น

น.ส.อรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านปลอดภาระ 2 ประเภท คือ สินเชื่อบ้านมอร์เกจพาวเวอร์ และสินเชื่อพร็อพเพอร์ตี้โลน คิดดอกเบี้ยต่ำสุดในตลาด โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อทั้งสองประเภท 2,000-3,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ สินเชื่อบ้านมอร์เกจพาวเวอร์ สำหรับผู้มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระหนี้ เปลี่ยนโฉนดเป็นเงินทุนได้ด้วยดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 5.55% ต่อปี ปีถัดไปคิดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ลบ 1.5% ตลอดอายุสัญญาสูงสุด 15 ปี วงเงินสูงสุด 80% ของราคาประเมินหรือสูงสุด 10 ล้านบาท ปัจจุบันเอ็มอาร์อาร์อยู่ที่ 7.9%

สำหรับสินเชื่อพร็อพเพอร์ตี้โลน สำหรับหลักประกันปลอดภาระที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยและต้องการการปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ อาทิ อพาร์ตเมนต์ โกดัง โรงงาน สำนักงาน อาคารพาณิชย์ คิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 6.66% ใน 3 ปีแรก ถัดไปคิดเอ็มอาร์อาร์ลบ 0.5% ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี วงเงินสูงสุด 60% ของราคาประเมินแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท

"อาจเรียกได้ว่าดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านปลอดภาระของธนาคารต่ำสุดในตลาด กดดอกเบี้ยลงมาต่ำกว่า 6% ซึ่งต่ำกว่าตลาดประมาณ 0.5% และเป็นแบบลดต้นลดดอก เทียบแล้วใกล้เคียงดอกเบี้ยสินเชื่อเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีต้องมีประสบการณ์ และขณะนี้ดอกเบี้ยเอสเอ็มอีขนาดกลางที่ต่ำกว่า 7% ก็หายาก" น.ส.อรอนงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ห่วงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพราะเจาะกลุ่มเป้าหมายพนักงานประจำ รายได้ 3 หมื่นบาท/เดือนขึ้นไป เพื่อคุมความเสี่ยง ผู้กู้มีแหล่งเงินประจำช่วยสร้างธุรกิจและชำระหนี้ โดยธนาคารอาจขอดูวัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อประเมินความเป็นไปได้ แต่ไม่ถึงกับต้องทำแผนธุรกิจมาเสนอ

น.ส.อรอนงค์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ไม่มีบ้านปลอดภาระ แต่เป็นพนักงานมีรายได้ประจำ 2 หมื่นบาทขึ้นไป อยากได้เงินทุนเพื่อสานฝัน ธนาคารมีสินเชื่อบุคคล 4 ทางเลือก ขึ้นกับระยะเวลาผ่อนชำระ โดยหากผ่อนหมดภายใน 12 เดือน ดอกเบี้ยต่ำสุด 9% สูงสุด 18% ระยะเวลาผ่อน 60 เดือน อนุมัติ 5 เท่าของรายได้หรือสูงสุด 1.5 ล้านบาท

สำหรับ 5 เดือนแรกปีนี้ สินเชื่อบุคคลปล่อยใหม่แล้วกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งปีคาดว่าจะได้ตามเป้า 7,000-8,000 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลลดลงเหลือ 3% ต่ำกว่าตลาดที่เฉลี่ย 4-5% จากการปรับกลยุทธ์เลือกลูกค้าเงินเดือน 2 หมื่นบาทขึ้นไป และให้ดอกเบี้ยต่ำลงตามความเสี่ยงที่น้อยลง ทำให้มีลูกค้าน้ำดีเข้ามามากขึ้น