posttoday

ชำแหละดอกเบี้ยเอสเอ็มอี ทำไมแพงเว่อร์?

15 พฤษภาคม 2560

ธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองทันที 1% ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทุกประเภท หากเศรษฐกิจไม่ดี มีแนวโน้มที่จะกระทบลูกค้า ต้องมีการเพิ่มสำรอง

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

คำกล่าวของ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุดอกเบี้ยที่สูงเกินไปเป็นภาระต้นทุนของเอสเอ็มอี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงสินเชื่อยาก พร้อมกระตุกจิตสำนึกของแบงก์ว่า ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ที่ 1-2% แต่เอสเอ็มอีกลับเจอดอกเบี้ยสูงถึง 7-8% ถ่างเกินไปหรือไม่

เป็นที่น่าสังเกตว่าทำไม รมว.คลัง ซึ่งเคยเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย มาก่อน ถึงส่งสัญญาณถึงสถาบันการเงินในเรื่องนี้ ซึ่งนายแบงก์เก่าย่อมรู้กลไกการคิดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างดี ว่าน่าจะยังมีช่องที่จะลดดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอีได้อีกใช่หรือไม่ แม้ธนาคารพาณิชย์ยืนยันเหตุผลเดิม คือคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้าก็ตาม

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีหลักการคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันไป ตามต้นทุนของแต่ละธนาคารที่แตกต่างกัน ต้นทุนของลูกค้ารายย่อยจะสูงกว่าเอสเอ็มอี และต้นทุนเอสเอ็มอีสูงกว่ารายใหญ่

นอกจากนี้ ธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองทันที 1% ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทุกประเภท หากเศรษฐกิจไม่ดี มีแนวโน้มที่จะกระทบลูกค้า ต้องมีการเพิ่มสำรอง ดังนั้นการกำหนดดอกเบี้ยต้องมีส่วนเกินตามความเสี่ยงเพื่อรองรับโอกาสจะเกิดความสูญเสียในอนาคต

“โครงสร้างดอกเบี้ยไม่ได้อยู่แค่ดอกเบี้ยกระดาน แต่ต้องไปดูรายละเอียดในกลุ่มลูกค้าด้วยที่จะเบลนด์กันไป เหมือนเวลาพูดถึงดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล 28% ดอกเบี้ยบัตรเครดิต 20% แต่ในทางปฏิบัติมีการเสนอโปรโมชั่นลดต้นลดดอก แข่งราคา จนดอกเบี้ยที่รับจริงจากรายย่อยเฉลี่ยไม่ถึง 9-10%”ธัญญลักษณ์ กล่าว

หลักการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มเอสเอ็มอี ในอดีตเคยใช้ดอกเบี้ยเหมารวมแบ่งประเภทเพียงสินเชื่อมีระยะเวลา (เทอมโลน) สินเชื่อเบิกเกินบัญชี (โอ/ดี) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (พี/เอ็น) แต่ปัจจุบันใช้หลักการแบ่งตามผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะกลุ่มธุรกิจ หากลูกค้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดอกเบี้ยจะแพงกว่าลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจดี และดอกเบี้ยจะถูกลงอีกหากมีหลักประกันและมีรายรับสม่ำเสมอจากหลักฐานเดินบัญชี

การคิดดอกเบี้ยยังดูตามความเสี่ยงลูกค้า โดยใช้ระบบเครดิตสกอริ่ง ที่แต่ละธนาคารจัดทำขึ้นมาเพื่อประเมินศักยภาพลูกค้า เช่น ลักษณะธุรกิจ อายุอาชีพผู้ประกอบการ ทำเลที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ ประสบการณ์ หลักประกัน เข้าสูตรและจะออกมาว่าได้คะแนนเท่าไร จากนั้นจะดูต้นทุนของเงินทุนของแบงก์เข้าไปผสม

อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้ง่ายขึ้น สามารถทำได้ด้วยการสร้างระบบที่ลดความเสี่ยง ซึ่งกระทรวงการคลังมาถูกทางในการออก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ เพราะหลักประกันมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงธุรกิจได้ทันที การเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีให้แข่งขันได้ ส่วนเอสเอ็มอีเองก็ต้องมีหลักฐานทางรายได้ที่พิสูจน์ความสามารถทางธุรกิจ หากระบบเหล่านี้เข้มแข็ง เมื่อผนวกกับการแข่งขันของธนาคาร เชื่อว่าดอกเบี้ยเอสเอ็มอีจะต่ำลง

การกำหนดดอกเบี้ยที่เหมาะสมอาจไม่มีสูตรตายตัวว่าควรอยู่ในอัตราใด ความเหมาะสมคือจิตสำนึกของธนาคารที่ไม่ขูดรีดเอสเอ็มอีเกินไป และรัฐบาลที่สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อบนพื้นฐานที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ เพราะหากรัฐจะเข้าไปควบคุมการกำหนดดอกเบี้ยมากๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือกลุ่มลูกค้านั้นจะไม่ได้สินเชื่อ กลายเป็นความเดือดร้อนหนักขึ้นแก่เอสเอ็มอี