posttoday

เปิดฟังความเห็น ร่างกฎหมาย ‘กบช.’

11 พฤษภาคม 2560

คลัง เปิดรับฟังความเห็น กบช. สัปดาห์หน้า ก่อนเสนอกฤษฎีกาพิจารณา คาดดันเข้า สนช. ทันภายในปีนี้

คลัง เปิดรับฟังความเห็น กบช. สัปดาห์หน้า ก่อนเสนอกฤษฎีกาพิจารณา คาดดันเข้า สนช. ทันภายในปีนี้

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงว่า ในสัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังจะเริ่มกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) หลังจากที่ร่างกฏหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และการพิจารณาของกฤษฎีการอบแรก โดยจะทำการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งสิ้น 15 วัน

ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นจากประชาชนจะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของ สศค. ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้ หลังจากนั้นจะมีการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนผ่านเว็บไซต์ทั้งหมด เพื่อนำเสนอให้กฤษฎีกาพิจารณารอบ 2 ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน หากกฤษฎีกาไม่ได้มีการตั้งข้อสังเกตหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของร่างกฎหมาย คาดว่าจะส่งกลับให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาได้ทันภายในปีนี้ เชื่อว่าจะประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวได้ทันตามกำหนดการในปี 2561 อย่างแน่นอน

“การพิจารณาของกฤษฎีการอบ 2 ก็จะดูเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนที่แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ทั้งหมด หากเห็นว่าส่วนไหนต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นใด ก็จะเร่งดำเนินการ แต่หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากร่างกฎหมายเดิมกระบวนการก็จะเดินหน้าต่อได้ทันที โดยการพิจารณารอบแรกไม่ได้มีการแก้ไขสาระสำคัญอะไร” นายวโรทัย กล่าว

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) นั้น ได้กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างจะต้องร่วมกันใส่เงินสมทบในกองทุนฯ โดยช่วง 1-3 ปีแรก นายจ้างที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป จะต้องเข้าสู่ระบบ กบช. จากนั้นปีที่ 4-6 นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะต้องเข้าสู่ระบบ และตั้งปีที่ 7 เป็นต้นไป นายจ้างที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไปก็ต้องเข้าสู่ระบบ กบช.

ขณะที่อัตราส่งเงินสมทบในช่วง 1-3 ปีแรก ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบฝ่ายละ 3% ของค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 1,800 บาท/เดือน แต่หากค่าจ้างต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ให้นายจ้างจ่ายฝ่ายเดียว ปีที่ 4-6 สมทบฝ่ายละ 5% ปีที่ 7-9 สมทบฝ่ายละ 7% และปีที่ 10 ขึ้นไป สมทบฝ่ายละ 10% โดยให้ลูกจ้างสามารถเลือกรับเงินเป็นงวดหรือเป็นเงินก้อนจากกองทุนฯ ได้หลังจากอายุ 60 ปี

สำหรับกฎหมายดังกล่าวเป็นการออมภาคบังคับ ที่รัฐบาลดำเนินการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุให้กับผู้ใช้แรงงาน