posttoday

ระวังค่าธรรมเนียม สูบเงินฝาก

20 เมษายน 2560

หากผู้ฝากดูเงื่อนไขการฝากไม่ดี มีโอกาสสูญเงินฝากเกลี้ยงบัญชีได้

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีจะก้าวไปไกล ทำให้มีช่องทางการบริหารเงินใหม่ๆ มีช่องทางให้เงินทำงานเกิดดอกผลให้แก่เจ้าของเงินเกิดขึ้นมากมาย แต่คนส่วนมากยังเลือกที่จะฝากเงิน แม้อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจะค่อนข้างต่ำ โดยดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 0.05% สำหรับบัญชีออมทรัพย์ และ 0.25% สำหรับบัญชีเงินฝากประจำ 1 ปี เพราะความเสี่ยงต่ำหรือจะเรียกว่าไม่เสี่ยงเลยก็ว่าได้ เพราะสถาบันการเงินในประเทศไทยส่วนใหญ่มั่นคงแข็งแรงมาก และยังมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาดูแลผู้บริโภคกรณีธนาคารเกิดปัญหา

ทำให้ทั้งระบบประเทศไทยยังมีจำนวนบัญชีเงินฝากอยู่มากถึง 89.35 ล้านบัญชี และมียอดเงินฝากรวมทั้งสิ้น 12.6 ล้านล้านบาท หากแยกเงินรับฝากตามขนาดและอายุของเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปัจจุบัน ณ เดือน ก.พ. 2560 ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แต่สิ่งที่อยากจะฝากเตือนผู้ฝากเงินในขณะนี้ ไม่ใช่ความเสี่ยงจากธนาคารไม่เข้มแข็งหรือดอกเบี้ยต่ำ เป็นการดูเงื่อนไขการคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้ดีก่อนจะตัดสินใจเปิดบัญชี โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีเงินฝาก กรณีบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกินกว่าระยะเวลา และค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีเงินฝาก กรณีบัญชีเคลื่อนไหว แต่มียอดคงเหลือต่ำกว่าที่ธนาคารกำหนด เพราะเรื่องนี้ถ้าเปิดบัญชีไว้แล้วลืมจะถูกค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีหักเงินหมดจนเกลี้ยงบัญชีได้

เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะแจ้งเงื่อนไขการขอเก็บค่าธรรมเนียมเหล่านี้เอาไว้อย่างชัดเจน โดยในส่วนของค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี กรณีบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกินกว่าระยะเวลาที่ธนาคารกำหนดนั้น ธนาคารใหญ่ 5 อันดับแรกอย่าง ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงศรี อยุธยา จะคิดค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50 บาท/เดือน สำหรับบัญชีที่มียอดคงเหลือต่ำกว่า 2,000 บาท และไม่เคลื่อนไหว คือ ไม่มีการทำธุรกรรม ไม่มีการมาฝาก ถอน โอนเงินเข้าหรือออก ในระยะ 1 ปีขึ้นไป

ยกเว้น ธนาคารขนาดเล็กและสาขาธนาคารต่างประเทศบางแห่งที่มีเงื่อนการเก็บค่าธรรมเนียมต่างออกไป อย่างธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 100บาท/เดือน กรณีบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกินกว่า 12 เดือน และมียอดคงเหลือต่ำกว่า 1,000 บาท ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เก็บ 100 บาท/เดือน กรณีบัญชีที่มียอดคงเหลือโดยเฉลี่ยแต่ละเดือนต่ำกว่าเงินฝากขั้นต่ำ ซึ่งธนาคารกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 5,000 บาท ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เก็บ 50 บาท/เดือน กรณีบัญชีไม่เคลื่อนไหวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และมียอดคงเหลือต่ำกว่า 500 บาท ธนาคารยูโอบี เก็บ 100 บาท/เดือน กรณีบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกินกว่า 12 เดือน และมียอดคงเหลือต่ำกว่า 5,000 บาท ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เก็บ 100 บาท/เดือน กรณีบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกินกว่า 12 เดือน และมียอดคงเหลือต่ำกว่า 5,000 บาท

เช่นเดียวกับค่ารักษาบัญชีเงินฝาก กรณีบัญชีเคลื่อนไหว แต่มียอดคงเหลือต่ำกว่าที่กำหนด ธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่มักไม่คิดค่าบริการ แต่ก็มีหลายธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนนี้ เพราะอาจไม่ต้องการสภาพคล่องเงินฝากจากรายย่อยทั่วไป และต้องการคัดเอาเฉพาะลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์ เช่น ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เรียกเก็บ 100 บาท/เดือน กรณีบัญชีเคลื่อนไหว แต่มียอดคงเหลือต่ำกว่า 5,000 บาท ธนาคารเกียรตินาคิน ไม่คิดค่าบริการ ยกเว้นบัญชีเงินฝาก KK Smart Savings ที่ต้องเปิดบัญชีครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท หากมียอดต่ำกว่า 500 บาท จะเก็บ 100 บาท/เดือน

ธนาคารทิสโก้ เก็บ 100 บาท/เดือน กรณีบัญชีเคลื่อนไหว แต่มียอดคงเหลือเฉลี่ยต่ำกว่า 1,000 บาท สำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือต่ำกว่า 2 หมื่นบาท สำหรับบัญชีเงินฝากซุปเปอร์ออมทรัพย์ หรือเก็บค่าธรรมเนียม 1,000 บาท/เดือน กรณีบัญชีเคลื่อนไหวแต่มียอดคงเหลือเฉลี่ยต่ำกว่า 1 ล้านบาท สำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไดมอนด์ และบลูไดมอนด์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เก็บ 50 บาท/เดือน กรณีบัญชีเคลื่อนไหวแต่มียอดคงเหลือต่ำกว่า 5,000 บาท

เรื่องนี้หากผู้ฝากดูเงื่อนไขการฝากไม่ดี มีโอกาสสูญเงินฝากเกลี้ยงบัญชีได้ สมมติมีเงินฝากเหลือในบัญชี 1,000 บาท หักค่ารักษาบัญชี 100 บาท/เดือน ผ่านไปแค่ 10 เดือนเงินฝากก็เหลือศูนย์บาทแล้ว ซึ่ง ธปท.ไม่สามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเรียกเก็บที่ได้ ทำได้เพียงให้ธนาคารพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลค่าธรรมเนียมให้ชัดเจน เพื่อจะได้ให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไม่เท่านั้น