posttoday

ตั้งศูนย์ทวงหนี้ แก้ปัญหาทวงหนี้ซ้ำซ้อน

19 เมษายน 2560

บสส.จับมือ ธปท. และสถาบันการเงินตั้งศูนย์รวมบริหารและทวงหนี้ แก้ปัญหาลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย หวังลดหนี้ครัวเรือน

บสส.จับมือ ธปท. และสถาบันการเงินตั้งศูนย์รวมบริหารและทวงหนี้ แก้ปัญหาลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย หวังลดหนี้ครัวเรือน

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ บสส.จะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หารือจัดตั้งศูนย์รวมบริหารหนี้ภาคครัวเรือน หรือศูนย์รวมติดตามทวงหนี้ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการทวงหนี้ซ้ำซ้อนกัน

ทั้งนี้ บสส.จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รายย่อยที่ไม่มีหลักประกันของสถาบันการเงิน ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ที่มีเจ้าหนี้หลายราย รวมถึงการติดตามทวงถามหนี้  โดยจะรวมหนี้ทั้งหมดเพื่อแก้ไขหนี้แบบบูรณาการที่จุดเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส) ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณเดือน พ.ค.นี้

นายนิยต กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นนโยบายของ ธปท. ที่ต้องการลดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน และเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีปัญหามีเจ้าหนี้หลายราย หรือมีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ ซึ่งประสบปัญหาถูกเจ้าหนี้ต่างคนต่างทวงหนี้ทำให้เกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันของลูกหนี้เพราะจะถูกทวงหนี้ตลอดเวลาจากหลายเจ้าหนี้

“ศูนย์รวมบริหารหนี้ครัวเรือน จะทำการรวมหนี้ทั้งหมดมาอยู่ในศูนย์นี้ และจะเชิญเจ้าหนี้ทุกรายมาเจรจาเพื่อทำข้อตกลงกัน โดย บสส.จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีแอล  และ บสส.จะได้รับค่าบริหารจัดการหนี้หรือค่าทวงถามหนี้จากสถาบันการเงินที่ตามปกติจะต้องว่าจ้างบริษัทติดตามทวงหนี้อยู่แล้ว”นายนิยต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ บสส.ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรที่จะรับบริหารหนี้ภาคครัวเรือนรายย่อยดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เพิ่มจำนวนบุคลากร แต่จะนำระบบเทคโนโลยีมาใช้แทน เช่น การให้ลูกหนี้ที่มีภาระหนี้บัตรเครดิตหลายใบ ที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ สามารถมาลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ว่าเป็นหนี้ที่ไหนบ้างและจำนวนเท่าไร และนัดเจ้าหนี้มาเจรจาที่เดียว เป็นต้น

นอกจากนี้ บสส.ยังสนใจที่จะเข้าไปช่วยรับบริหารหนี้เสีย หรือเป็นที่ปรึกษา การจัดตั้งเอเอ็มซีของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนจากธนาคารอิสลาม