posttoday

คลังหนุนสุดตัว "สังคมไร้เงินสด"

18 เมษายน 2560

สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society เป็นเป้าหมายสำคัญที่กระทรวงการคลัง โดย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ปักธงไว้

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society เป็นเป้าหมายสำคัญที่กระทรวงการคลัง โดย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ปักธงไว้ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2558 จากนั้นเป็นต้นมาก็เห็นความเปลี่ยนแปลงภายในระบบธนาคาร และรูปแบบการชำระเงินหลายอย่าง ทั้งการโอนเงิน ชำระเงินของบุคคล ไปจนถึงการชำระเงินของรัฐบาล

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศ (เนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์) ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่สำหรับประเทศไทย อย่าง “พร้อมเพย์” มาเป็นทางเลือกในการโอนเงินราคาถูกมากเริ่มต้น 0 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 บาท เทียบกับการโอนเงินผ่านสมาร์ทโฟนสมัยนี้ ข้ามธนาคารบวกเพิ่ม ข้ามเขตบวกเพิ่ม จนทะลุรายการละ 35 บาท

การเข้ามาของพร้อมเพย์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมโอนเงินธนาคาร ขณะนี้เริ่มเห็นโปรโมชั่นของโมบายแบงก์กิ้งหลายธนาคาร ใช้กลยุทธ์ควบคู่กับพร้อมเพย์ ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนข้ามธนาคารมาเป็นจุดขาย ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคที่สามารถโอนเงินชำระเงินได้อย่างสะดวกขึ้นในราคาถูกลง ไม่ต้องใช้เงินสด

นอกจากนี้ ยังมีโครงการกระจายเครื่องรับชำระเงิน (อีดีซี) ที่หน่วยงานราชการและร้านค้ารวมกว่า 5.5 แสนแห่งทั่วประเทศ ซึ่งตัวแทนจาก 2 ค่าย รวม 7 ธนาคารผู้ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงการคลังกำลังเร่งดำเนินการสำรวจและวางเครื่องอยู่ คาดว่าจะครบทุกแห่งภายใน ไตรมาสแรกของปี 2561

โครงการวางเครื่องอีดีซี เป็นการรองรับการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต ซึ่งบัตรเดบิตในประเทศมีประมาณ 54 ล้านใบ แต่กลับใช้จ่ายผ่านการรูดบัตรน้อยมาก ส่วนใหญ่ใช้บัตรเดบิตเพื่อกดเงินสดจากเอทีเอ็ม กระทรวงการคลังมองว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากจุดรับบัตรน้อยเกินไป จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ฉะนั้นหากมีเครื่องอีดีซีครอบคลุม คนจะใช้บัตรเดบิตชำระเงินโดยตรง โดยไม่ต้องกดเงินสดมาใช้

อาจกล่าวได้ว่า โครงการเนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ของรัฐบาล มาทันเวลาในช่วงที่ระบบการเงินของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้เกิดผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นันแบงก์) ออกบริการทางการเงินผ่านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างคึกคัก ทำให้ธนาคารไทยปรับตัวรองรับทั้งนโยบายและการแข่งขันจากภายนอกได้พอดี

สัญญาณของการเข้ามาทำธุรกิจการเงิน เริ่มเห็นจากบริการของค่ายโทรศัพท์มือถือ ที่ให้บริการไม่ใช่แค่เรื่องสื่อสารและดาต้า แล้วหันมารุกตลาด อี-มันนี่ และอี-วอลเล็ต ชิงส่วนแบ่งตลาดลูกค้าคนรุ่นใหม่ เช่น การเติมเงินเพื่อเล่มเกม หรือการใช้วอลเล็ต เพื่อชำระค่าสินค้าหลายประเภท

นอกจากนี้ เริ่มมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) ที่มีแนวคิดปิดช่องว่างความไม่สะดวกสบายในการใช้เงินสดหรือบริการผ่านธนาคาร รวมทั้งปิดช่องว่างค่าธรรมเนียมแพง คิดค้นเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ใหม่เข้ามาเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวทางการเงินภายนอก ส่งผลให้สถาบันการเงินหันมารุกหนักเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาฟินเทคภายในธนาคาร เพื่อออกบริการใหม่มาปิดช่องว่างต่างๆ ที่เริ่มเกิดขึ้น

เทรนด์ที่จะมาต่อจากนี้ คือ การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด โดยใช้ความสะดวกจากสมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นการอ่านโค้ด มาเชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารหรืออี-วอลเล็ต เพียงใช้สมาร์ทโฟนส่องคิวอาร์โค้ด ก็สามารถตัดเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้เลย ซึ่งคิวอาร์โค้ดนี่เองจะเข้ามาเป็นทางเลือกที่ 2 ของการใช้บัตรเดบิต ในกรณีที่ไม่ได้พกบัตรเดบิตมา

หลายคนเริ่มมองภาพว่า จากความล้ำสมัยของสมาร์ทโฟนที่ทำได้ทุกอย่าง อาจทำให้บัตรพลาสติกเริ่มหมดความหมายลง ทั้งบัตรเดบิต และบัตรเครดิต

“รูปแบบการชำระเงินของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปมากจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในอนาคต บัตรเครดิต อาจไม่ได้เป็นในรูปของบัตรพลาสติก แต่จะเป็นในรูปแบบของบัตรเครดิตออนไลน์แทน รวมทั้งการชำระเงินผ่านอีดีซีก็มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนเป็นการชำระผ่านคิวอาร์โค้ด (คิวอาร์เพย์เมนต์) ด้วย” ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การชำระเงินที่พัฒนาไปสู่คิวอาร์โค้ดของประเทศไทย กำลังรอการจัดทำมาตรฐานคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ทุกองค์กรทุกธนาคารเข้ามาใช้ร่วมกันได้ โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นคนกลางในการพัฒนามาตรฐานกลาง ซึ่งคาดว่าอาจเห็นภายในปีนี้

ไม่น่าเชื่อว่าพัฒนาการของระบบการชำระเงินในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วถึงขนาดนี้ ซึ่งมองย้อนกลับไปจนถึงปัจจุบันใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีเท่านั้น และนั่นทำให้ยุทธศาสตร์ของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ก็เปลี่ยนไปมุ่งสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ได้เน้นเฉพาะการชำระเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกส่วนของการบริการทิศทางการชำระเงินของประเทศที่มุ่งสู่สังคมไร้เงินสด อาจจะไม่ใช่เรื่องระยะไกล เพราะอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ล้วนแต่นำมาพัฒนาการชำระเงินที่ไม่ต้องใช้เงินสดมากขึ้น ซึ่งต้นทุนของธนาคารก็ลดลง แน่นอนว่าค่าธรรมเนียมของธุรกรรมการเงินทั่วไปจะลดลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน