posttoday

ธพว.ให้กู้เอสเอ็มอีปรับตัว

15 มีนาคม 2560

เอสเอ็มอีแบงก์ชง ครม. ออกสินเชื่อหนุนสตาร์ทอัพยกระดับสู่ 10 อุตฯ เป้าหมาย วงเงิน 1.5 หมื่นล้าน พร้อมขอชดเชยกว่า 1,387 ล้าน

เอสเอ็มอีแบงก์ชง ครม. ออกสินเชื่อหนุนสตาร์ทอัพยกระดับสู่ 10 อุตฯ เป้าหมาย วงเงิน 1.5 หมื่นล้าน พร้อมขอชดเชยกว่า 1,387 ล้าน

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมเสนอโครงการ สินเชื่อให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Transformation Loan) วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันที่ 21 มี.ค.นี้ มีเป้าหมายคือ การปล่อยกู้เพื่อช่วยผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีกลุ่มสตาร์ทอัพและนวัตกรรม การปล่อยกู้ลูกค้าที่ต้องการปรับเปลี่ยน หรือยกระดับไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลในโครงการ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล หรือ S-Curve และการปล่อยกู้เพื่อช่วยลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ขาดเงินทุนหมุนเวียนรวมถึงกลุ่มที่ต้องการขยายกิจการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ซีแอลเอ็มวี

ทั้งนี้ กรอบวงเงินปล่อยกู้ต่อรายที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาคือปล่อยกู้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท/ราย มีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ในช่วง 3 ปีแรก โดยจะเสนอ ครม.ขอให้รัฐช่วยชดเชยดอกเบี้ย อีก 2% ในช่วง 3 ปีแรก รวมวงเงิน ไม่เกิน 900 ล้านบาท ส่วนระยะเวลา ที่เหลืออีก 4 ปีหลัง ให้ผู้ประกอบการรับภาระเอง โดยธนาคารจะคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ

นอกจากนี้ ในวงเงินกู้ 5 ล้านบาทแรก ลูกค้าสามารถใช้วงเงินค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ โดยจะขอให้รัฐช่วยรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียม 3 ปี แยกเป็นค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก 1.75% ปีที่ 2 และปีที่ 3 รัฐบาลจ่าย 0.75% ผู้ประกอบการจ่ายเอง 1% คิดเป็นวงเงินที่รัฐจะช่วยชดเชยให้ 487.5 ล้านบาท และในกรณีที่กู้เกิน 5 ล้านบาท ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมให้ บสย.เอง ทั้งนี้คิดเป็น กรอบวงเงินที่จะเสนอขอวงเงินชดเชยให้ ครม.พิจารณารวม 1,387.5 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในกรอบวงเงินสินเชื่อ SME Transformation Loan จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท จะไม่มีการแยกกลุ่มลูกค้าและวงเงินไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้คล่องตัว แบบใครมาก่อนได้ก่อน เพราะประสบการณ์จากโครงการสินเชื่อนโยบาย ที่ได้กำหนดวงเงินเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพและนวัตกรรมไว้ 2,250 ล้านบาท ล่าสุด สามารถอนุมัติสินเชื่อได้เพียง 50%

"เดิม ธพว.คาดว่าความต้องการ สินเชื่อน่าจะอยู่ที่รายละ 2 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ายอดขอสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 1 ล้านต้นๆ เท่านั้น และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี" นายมงคล กล่าว