posttoday

ธนาคารซีไอเอ็มบีคาดเศรษฐกิจปีหน้าโต 3.2%

22 ธันวาคม 2559

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยประเมินเศรษฐกิจไทยปี60 โต 3.2% มองครึ่งปีแรกยังฟื้นได้ข้า แต่ครึ่งหลังสดใสมากขึ้น

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยประเมินเศรษฐกิจไทยปี60 โต 3.2% มองครึ่งปีแรกยังฟื้นได้ข้า แต่ครึ่งหลังสดใสมากขึ้น 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ประเมินเศรษฐกิจปีนี้น่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ 3.3% ส่วนปี 2560 เศรษฐกิจน่าจะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทาย เปรียบเหมือนสายรุ้งที่มีทั้งด้านสดใสและด้านอึมครึม จากสีม่วงไปจนถึงสีแดง โดยคาดว่าจีดีพีปีหน้าจะโตได้ที่ 3.2% โดยสาเหตุที่มองปีหน้าโตได้น้อยกว่าปีนี้มาจากความเสี่ยงตลาดโลกเป็นหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวได้บ้างจากการบริโภค แต่ก็ไม่อาจชดเชยแรงกดดันจากภายนอกได้ ซึ่งการทำมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของโภครัฐน่าจะช่วยได้เพียงประคองเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ไม่สามารถกระตุ้นให้โตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนภาครัฐคิดเป็นเพียง6% ของจีดีพี

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจครึ่งแรกของปีหน้าน่าจะยังฟื้นได้ช้า และครึ่งปีหลังน่าจะสดใสได้มากขึ้น ส่วนทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทไม่ได้ช่วยให้ส่งออกโตได้ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากอ่อนเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลท้องถิ่น คาดว่าเงินบาทในปีหน้าจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 37 บาท/เหรียญสหรัฐ

“แต่สิ่งที่พอจะเป็นความหวังสำหรับเศรษฐกิจปีหน้า จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่เริ่มได้รับปัจจัยเชิงบวกมากขึ้น และเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจัยภายในจะคลี่คลาย แต่ความท้าทายที่ไทยจะเผชิญในปี 2560 จะมาจากภายนอกเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน จากโอกาสที่สหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงราคาน้ำมันที่จะขยับสูงขึ้น เหล่านี้อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ”นายอมรเทพกล่าว

ธนาคารซีไอเอ็มบีคาดเศรษฐกิจปีหน้าโต 3.2%

ทั้งนี้ ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 2560 คือ 1) การส่งออก ซึ่งมีสัดส่วน 60% ของจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูง แต่ยังโตติดลบมาต่อเนื่องตลอด 5 ปี ส่วนปีหน้ามีโอกาสติดลบหรือเป็นบวกเล็กน้อย และแม้ว่านายโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะไม่ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงกับไทย และไทยส่งออกไปสหรัฐราว 11%  ของการส่งออกทั้งหมด  ซึ่งส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในปีหน้าน่าจะยังดีต่อเนื่อง แต่ต้องดูว่านโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐจะกระทบจีนและห่วงโซ่อุปทาน หรือสินค้าบริโภคที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยมากน้อยแค่ไหน

2.) การลงทุนภาคเอกชนที่ยังต่ำ และติดลบมาแล้ว 3 ปีต่อเนื่อง และปีหน้าต้องดูว่าจะขยายตัวได้แค่ไหน 3.) ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงยังกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมให้อยู่ในระดับต่ำ แม้ภาครัฐมีมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็คงช่วยชดเชยรายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น  4.) จากกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้า เอกชนไทยจะมีการย้ายฐานเข้าและออกอย่างไร ไทยจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานอย่างไร 5.) ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้สหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีหน้า โดยอาจจะปรับขึ้น 2 ครั้งในช่วงกลางปีและปลายปี แต่ก็คาดว่าอัตราดอกเบี้ยไทยจะคงที่ต่อเนื่องตลอดทั้งปีหน้า ด้านเงินทุนไหลออกไม่น่าห่วง เพราะไม่คิดว่านักลงทุนจะยังไม่ย้ายการลงทุนออกจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (อิมเมอร์จิ้น มาร์เก็ต ) 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้า โครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนให้ตาม อาทิ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และมอเตอร์เวย์ จะส่งผลเชิงบวก (Crowding In Effect) ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยในระยะสั้นจะช่วยให้เกิดการจ้างงานและส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมไปถึงกลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศ ส่วนในระยะถัดไป การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาลงทุนมากขึ้น

สำหรับภาคที่หน้าจะมีความสดใสมากที่สุดในปีหน้าคงหนีไม่พ้นด้านการท่องเที่ยว ที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกปี