posttoday

แหวนหมั้นเพชร ลงทุนคุ้มค่าเพื่อ...' ว่าที่เจ้าสาว '

21 พฤศจิกายน 2552

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด "แหวนหมั้น" น่าจะเป็นการลงทุนครั้งเดียวในชีวิต เพราะฉะนั้นคุณว่าที่เจ้าบ่าวก็ต้องพิถีพิถันคัดสรรเพื่อ "ว่าที่เจ้าสาว" กันหน่อย

แต่คงไม่ต้องคิดอะไรมาก ถ้าบังเอิญว่าคุณเป็นว่าที่เจ้าบ่าวกระเป๋าหนัก เพราะน่าจะสามารถหาแหวนหมั้นเพชรที่ดีที่สุด สวยที่สุด เม็ดโตที่สุด ส่องประกายวิบวับกระแทกตาได้ไม่ยาก

แต่ถ้าคุณบังเอิญเป็นว่าที่เจ้าบ่าวที่อยากได้แหวนหมั้นเพชรที่ดีที่สุดภายใต้ "งบประมาณจำกัด" อาจจะต้องทำการบ้านให้หนักมากขึ้น

งบประมาณในใจ

เรื่องแรกที่ว่าที่เจ้าบ่าว รวมทั้งว่าที่เจ้าสาว ต้องคิดกันก่อนที่จะเดินเข้าร้านเพชร คือ กำหนดงบประมาณ

ตามตำราฝรั่งบอกหลักการกำหนดงบประมาณสำหรับแหวนหมั้นเอาไว้หลายข้อ เช่น ไม่ควรจะเกิน 2-3.5 เท่าของรายได้ต่อเดือน หรือไม่ควรเกิน 6% ของรายได้ต่อปีของฝ่ายชาย หรือประมาณ 3% ของงบประมาณในการจัดงานแต่งงาน

แต่ในบ้านเราไม่ค่อยได้ยินหลักเกณฑ์แบบนี้เท่าไร เพราะส่วนมากจะใช้คำว่า "พอสมควร" (แก่ฐานะของว่าที่เจ้าบ่าว และว่าที่เจ้าสาว)

เพราะฉะนั้นวิธีการกำหนดงบ ประมาณสำหรับแหวนหมั้นที่ดีที่สุด คือ แหวนหมั้นที่เราสามารถซื้อได้ด้วยเงินสด แต่ถ้าจำเป็นต้องซื้อด้วยเงินกู้ หรือบัตรเครดิต ก็ต้องแน่ใจว่าจะสามารถผ่อนชำระให้หมดได้ภายในเวลาไม่นาน เพราะต้องไม่ลืมว่าดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบุคคลไม่ใช่ถูกๆ

แม้ว่าคุณทั้งคู่จะกำหนดงบประมาณเอาไว้แล้วก็ตาม แต่ อุมาพันธ์ เจริญยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเงินส่วนบุคคล สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย เตือนว่า "ระวังปัญหางบประมาณบานปลาย" เพราะถูกแสงวิบวับเข้าตา

นอกจากนี้ งบประมาณที่คิดไว้ต้องกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่าเป็นงบประมาณสำหรับแหวนทั้งวง หรือเป็นงบประมาณที่แยกระหว่างเพชรร่วงกับตัวเรือน (บวกค่าแรง)

พิมพ์พินิจ กัลวทานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิมพ์พินิจ ผู้ก่อตั้งร้านคอนเทมโพรารี่ จิวเวลรี่ แอนด์ อาร์ต และที่ปรึกษาด้านการลงทุนอัญมณี แนะนำว่า ถ้ามีงบประมาณจำกัดควรจะซื้อแหวนที่เข้าตัวเรือนสำเร็จไว้แล้ว แทนที่จะซื้อเป็นเพชรร่วงแล้วมาประกอบตัวเรือนภายหลัง

"โดยทั่วไปราคาตัวเรือนบวกกับค่าแรงจะอยู่ที่ประมาณ 30-50% ของราคาเพชร ขึ้นอยู่กับแบบของตัวเรือน ซึ่งถ้าต้องการใช้งบประมาณให้คุ้มค่าที่สุดซื้อเป็นเซตติงไปเลยดีกว่า เพราะจะประหยัดได้มากกว่า" พิมพ์พินิจ กล่าว

เพชรสวยถูกใจ

หลังจากได้งบประมาณที่ "สมน้ำสมเนื้อ" แล้ว ก็ต้องมาหาความรู้กัน เพราะบอกแล้วว่านี่น่าจะเป็นการลงทุนครั้งเดียวในชีวิต และมันจะเป็นการลงทุนที่สร้างความเสียหายให้มากที่สุด ถ้าเราไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะลงทุนเลย โดยเฉพาะเพชรที่น้อยคนนักจะคุ้นเคย

ก่อนจะไปซื้อเพชรต้องรู้จัก 4Cs (Cut, Color, Clarity, Carat) กันก่อน เพราะเพชรจะดีหรือไม่ดีก็ใช้ 4 ตัวนี้มาพิจารณา

Cut หรือการเจียระไน จะมีตั้งแต่ สุดยอด (Excellent) ดีมาก (Very Good) ดี (Good) และพอใช้ (Fair) ซึ่งเพชรยิ่งเจียระไนดี เหลี่ยมมุมถูกต้อง ได้สัดส่วน ก็จะยิ่งส่องประกายระยิบระยับได้มากขึ้น

Color หรือสี แต่คนไทยมักจะใช้คำว่า "น้ำ" มากกว่า โดยจะเริ่มตั้งแต่ขาวใสไปจนถึงออกสีเหลืองจางๆ ซึ่งระดับสีของเพชรจะเรียงจาก D (เท่ากับน้ำ 100%) จนถึง Z

ข้อมูลจาก www.weddingdiamonds.net ระบุว่า แม้จะแบ่งระดับสีออกเป็น D-Z แต่สามารถแบ่งออกเป็นเฉดสีได้ 5 เฉด และ 3 เฉดแรก คือ D-F จะเป็นเพชรขาวบริสุทธิ์, G-J ขาวที่ติดเหลืองจางมากๆ และ K-M ขาวที่ติดเหลืองจางๆ

Clarity หรือความสะอาด ซึ่งการพิจารณาความสะอาด หรือตำหนิของเนื้อเพชร จะต้องใช้กล้องขยาย 10 เท่า

ความสะอาดจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ IF คือ เพชรที่ไม่มีตำหนิใดๆ เลย VVS1-VVS2 มีตำหนิน้อยมากๆ VS1-VS2 มีตำหนิน้อย และ SI1-SI2 มีตำหนิที่เห็นได้ง่าย หรืออาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า

Carat หรือขนาดของเพชรที่เรียกว่า กะรัต โดย 1 กะรัตจะแบ่งออกเป็น 100 สตางค์

นอกจาก 4Cs นี้แล้ว ยังมีอีก 1C ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ Certificate เป็นเหมือนใบรับประกันคุณภาพของเพชรแต่ละเม็ด

พอรู้จักและทำความเข้าใจ C แต่ละตัวกันแล้ว ก็มาเลือก "เพชรสวยถูกใจ" ซึ่งแต่ละคนอาจจะชอบไม่เหมือนกัน และให้ความสำคัญกับ C แต่ละตัวต่างกันไป เช่น บางคนอาจจะบอกว่า ไม่ต้องสวยปิ๊ง แต่ขอให้ใหญ่ไว้ก่อน แต่อีกคนหนึ่งอาจจะไม่สนใจเรื่องขนาด ขอให้สวยใสไร้ตำหนิก็เป็นพอ แล้วจะทำอย่างไรให้ได้เพชรที่ถูกใจที่สุดในงบประมาณที่ตั้งไว้

- ไม่ต้องสวยปิ๊ง แต่ขอใหญ่ๆ

ถ้าคิดจะซื้อแหวนหมั้นเพชรที่ขนาด 1 กะรัต ต้องใช้เงินหลายแสนบาท มีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะช่วยให้ได้เพชรเม็ดเป้งในราคาที่พอจะรับได้

"ไม่เต็มกะรัต" - ถ้าจะซื้อเพชรให้ได้ในราคาประหยัด แต่ขนาดพอสมควร ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรจะเลือกที่เกือบจะเต็มกะรัต เช่น 0.8-0.9 กะรัต หรือ 1.8-1.9 กะรัต แทนที่จะเป็น 1 หรือ 2 กะรัตเต็มๆ

พิมพ์พินิจ บอกว่า ถ้าเป็นเพชรที่ใสกิ๊กระดับ (D) ไร้ตำหนิ (IF) ที่ขนาด 0.99 กะรัต กับ 1.01 กะรัต ราคาต่างกันเกือบแสน แต่ขนาดแทบจะไม่ต่างกันมากนัก

"เพชรหน้ากว้าง" - พิมพ์พินิจ บอกว่า เพชรที่มีหน้ากว้าง (แต่ต้องทำใจเรื่องการเจียระไน เพราะคงถึงขั้นสุดยอด) จะทำให้เพชรขนาด 1 กะรัต ดูเหมือนเพชรขนาด 1.5 กะรัตได้ไม่ยาก

"ตัวเรือนช่วยได้" - แทบไม่น่าเชื่อว่านักออกแบบสามารถทำให้เพชรดูโตขึ้นได้ ด้วยการเลือกวิธีหุ้มตัวเพชร เพราะหากใช้วิธีการหุ้มแบบ "หัวเรือ" หรือปิดเฉพาะหัวท้าย แต่ถ้าเป็นการหุ้มแบบ "หัวหนาม" ที่โชว์เม็ดเพชร จะไม่สามารถหลอกตาว่าเป็นเพชรเม็ดโตได้

- ขอให้สวยใสไร้ตำหนิ

ถ้าจะให้ได้เพชร "สวยใสไร้ตำหนิ" ก็ต้องเป็น D-IF-Excellent แต่ราคาอาจจะไม่ค่อยสวยเท่าไรสำหรับคนที่งบประมาณจำกัด เพราะเพชร 0.3-D-IF-Excellent ราคาอยู่ที่ 4.59 หมื่นบาท (อ้างอิงจาก www.weddingdiamonds.net) แต่ถ้าลดระดับลงมาหน่อยเหลือ 0.3-G-VVS1-Excellent ราคาจะเหลือ 29,580 บาท