posttoday

คนดี-ภาษีลด สิทธิพิเศษสำหรับ 'ลูกกตัญญู'

31 ตุลาคม 2552

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

อย่าไปเชื่อถ้ามีคนบอกว่า "ทำดี ได้ดี มีที่ไหน ทำชั่ว ได้ดี มีถมไป" เพราะคนทำความดีในยุคนี้มีคนเห็นและให้รางวัลกับคนดี โดยเฉพาะ "ลูกกตัญญู" ที่จะ ได้สิทธิพิเศษจากกรมสรรพากรให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และ 91 น้อยลง โดยนำค่าอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ และเบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อให้พ่อแม่มา ลดหย่อนภาษีได้

ใกล้ๆ สิ้นปีแบบนี้น่าจะเป็นเวลาเหมาะเจาะที่จะเริ่มคิดถึงช่องทาง การลดหย่อนภาษี เพิ่มเติมจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในช่องทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และประกันชีวิตของตัวเราเอง

พ่อแม่เรา เราดูแลได้ ถ้าพ่อแม่อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ (คนละ) ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่ง กรมสรรพากรจะถือว่ารายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการยังชีพ เราก็สามารถนำค่า อุปการะเลี้ยงดูมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้คนละ 3 หมื่นบาท

แต่ต้องเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงของเรา หรือหากเป็นบุตรบุญธรรมก็ต้องเป็นบุตร บุญธรรมที่มีการจดทะเบียนรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วเท่านั้น หรือจะเป็นพ่อแม่ของสามีหรือภรรยาก็ได้ ในกรณีที่ภรรยาหรือสามีเป็นผู้มีเงินได้เพียงคนเดียว

กรณีที่พ่อแม่มีลูกหลายคนก็สามารถแบ่งกันได้ โดยให้พ่อรับรองให้ลูกคนหนึ่ง และแม่รับรองอีกคนหนึ่งก็ได้ แต่พ่อแม่จะสามารถออกใบรับรองให้กับลูกได้คนเดียวเท่านั้น เช่น พ่อรับรองพี่คนโตแล้วจะ มารับรองให้น้องคนเล็กอีกไม่ได้

พ่อแม่เรา ให้ประกันช่วยแบ่งเบา

ถ้าพ่อแม่เรา คุณพ่อยังหนุ่ม คุณแม่ ยังสาว อายุไม่ถึง 60 ปี ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเราสามารถใช้สิทธิ "ลูกกตัญญู" ได้เหมือนกัน

แต่ต้องเป็นพ่อแม่ที่มีเงินได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทในปีภาษีนั้นๆ และเราต้องเป็น "บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย" ของพ่อกับแม่ด้วย โดยเบี้ยประกันที่สามารถนำมา ลดหย่อนได้ จะลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท โดยนำเบี้ยประกันของพ่อและแม่มารวมกัน

ไม่ใช่ว่าลดหย่อนพ่อได้ 1.5 หมื่นบาท และแม่อีก 1.5 หมื่นบาท แต่เจ้าหน้าที่ กรมสรรพากรแจ้งว่า เว้นแต่ว่าเป็นกรณีที่พ่อแม่หย่ากันแล้วมีลูก 2 คน ลูกแต่ละคน ก็สามารถต่างใช้สิทธิพ่อหรือแม่ได้คนละ 1.5 หมื่นบาท

แต่ถ้าเป็นกรณีที่พ่อแม่มีลูกหลายคนสามารถร่วมกันทำประกันให้กับพ่อหรือแม่ได้ โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันไปตามส่วนของผู้มีเงินได้ตามที่จ่ายเบี้ยไปจริง แต่ต้องไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทเช่นกัน

และเช่นเดียวกับการหักลดหย่อนค่า อุปการะ คือ กรณีที่สามีหรือภรรยามีเงินได้คนเดียว ก็สามารถให้สามีหรือภรรยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ ได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

สำหรับแบบประกันที่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรให้ข้อมูลว่า ไม่ต้องขึ้นชื่อว่าเป็น "ประกันลูกกตัญญู" ก็สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ เพียงแต่ต้องเป็น "ประกันสุขภาพ" ที่เข้าเงื่อนไข 4 ข้อที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ และต้องมีหนังสือรับรองจากบริษัทประกัน

สุขภาพส่วนบุคคล

ความคุ้มครอง : คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งกรณีที่เป็นผู้ป่วยในและ ผู้ป่วยนอก

คุณสมบัติผู้เอาประกัน : โดยมากจะกำหนดอายุไม่เกิน 65 ปี หรือบางบริษัทจะรับทำประกันไปจนถึงอายุ 70 ปี แต่ต้องเป็นการต่ออายุกรมธรรม์เท่านั้น

ลักษณะของสัญญา : สัญญาแบบปี ต่อปี แต่บริษัทประกันมีสิทธิที่จะไม่ต่อสัญญาในปีต่อไปก็ได้

ระยะเวลารอคอย : 30 วัน สำหรับการเจ็บป่วยทั่วไป และ 120 วัน สำหรับการเจ็บป่วยที่ระบุไว้เป็นพิเศษ

ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ

ความคุ้มครอง : คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก และบริษัทประกันจะจ่าย ค่าทดแทนให้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันที่ตกลงกันไว้ และจะจ่ายเป็นเงินก้อนชดเชยการ สูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพ

คุณสมบัติผู้เอาประกัน : อายุไม่เกิน 75 ปี แต่ละบริษัทจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เช่น กำหนดแค่อายุ 65 ปี

ลักษณะของสัญญา : สัญญาแบบปี ต่อปี แต่ทั้งบริษัทและผู้เอาประกันสามารถบอกเลิกสัญญาระหว่างปี และไม่ต่อสัญญาในปีต่อไปได้

ระยะเวลารอคอย : ไม่มี

โรคร้ายแรง

ความคุ้มครอง : หากผู้เอาประกัน ที่ทำประกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน ได้รับวินิจฉัยจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคร้ายแรงโรคใดโรคหนึ่งตามคำจำกัดความที่ได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ บริษัท จะจ่ายเป็นเงินก้อนเดียวตามจำนวนที่ตกลงกันไว้

บางบริษัทอาจจะเลือกคุ้มครองเพียง 1 โรค ขณะที่บางบริษัทอาจจะครอบคลุมมากกว่า 1 โรค เช่น มะเร็งระยะลุกลาม กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด หลอดเลือดสมอง ไตวายเรื้อรัง ตับแข็ง โปลิโอ ถุงลมโป่งพอง ไปจนถึงโรคเอดส์

คุณสมบัติผู้เอาประกัน : อายุไม่เกิน 75 ปี แต่บางบริษัทอาจจะกำหนดแตกต่างไป เช่น ต้องอายุไม่เกิน 54 ปี แต่สามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้ถึงอายุ 65 ปี แต่ ต้องไม่มีโรค หรืออาการ หรือการบาดเจ็บที่ก่อให้เกิดโรคร้ายมาก่อนที่จะทำประกัน

ลักษณะของสัญญา : สัญญาแบบ ปีต่อปี และบริษัทประกันไม่มีสิทธิบอก เลิกสัญญาระหว่างปี หรือปฏิเสธการ ต่อสัญญา แต่ผู้เอาประกันมีสิทธิที่จะ บอกเลิกสัญญาระหว่างปี หรือไม่ต่อสัญญาในปีต่อไปได้

ระยะเวลารอคอย : 90 วัน

การดูแลระยะยาว

ความคุ้มครอง : หากผู้เอาประกัน ทำประกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างน้อย 3 อย่าง จาก 6 อย่าง คือ เปลี่ยนจาก นอนเป็นนั่ง เดิน ขับถ่าย อาบน้ำ แต่งตัว และรับประทานอาหาร ติดต่อกันเกิน 180 วัน บริษัทประกันอาจจะจ่ายเป็น เงินก้อน หรือเป็นรายเดือน

คุณสมบัติผู้เอาประกัน : อายุไม่เกิน 65 ปี

ลักษณะของสัญญา : สัญญาแบบปี ต่อปี และบริษัทประกันไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาระหว่างปี หรือปฏิเสธการต่อสัญญา ขณะที่ผู้เอาประกันไม่สามารถบอกเลิกสัญญาระหว่างปี แต่ไม่ต่อสัญญาในปีต่อไปได้

ระยะเวลารอคอย : 90 วัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นประกันแบบไหน เบี้ยประกันที่จะนำไปลดหย่อนภาษีได้จะ ต้องเป็นเบี้ยประกันสุทธิที่หักอากร 0.4% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว และภาษีที่ประหยัดได้จะขึ้นอยู่กับ "อัตราภาษี" ของแต่ละคน ซึ่งคนที่มีฐานภาษีสูงก็จะประหยัดได้มากกว่า

แม้ว่าเงินภาษีที่ประหยัดได้จากประกันลูกกตัญญูจะดูน้อยนิด ไม่คุ้มกับเบี้ยประกันที่จ่ายไป แต่อย่างน้อยสำหรับลูกที่คิดจะกตัญญูโดยการซื้อประกันให้พ่อแม่เพื่อความอุ่นใจในยามฉุกเฉิน ก็น่าจะดีที่มีคนช่วยออกค่าเบี้ยประกันให้ (ส่วนหนึ่ง)