posttoday

แบงก์ยันไม่เพิ่มค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มระบบชิปการ์ด

04 พฤษภาคม 2559

ธปท. – สมาคมธนาคารไทย ประกาศความพร้อมใช้บัตรเดบิตแบบชิปการ์ด เริ่ม 16 พ.ค.นี้ ยืนยันไม่คิดค่าบริการเพิ่ม

ธปท. – สมาคมธนาคารไทย ประกาศความพร้อมใช้บัตรเดบิตแบบชิปการ์ด เริ่ม 16 พ.ค.นี้ ยืนยันไม่คิดค่าบริการเพิ่ม

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงร่วมกับสมาคมธนาคารไทยถึงการปรับเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเดิมที่เป็นระบบแถบแม่เหล็กมาเป็นระบบชิปการ์ด ว่า ตั้งแต่ 16 พ.ค. ปีนี้เป็นต้นไป ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องให้บริการบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเป็นระบบชิปการ์ด ตามมาตรฐานชิปการ์ดของไทย แทนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบเดิมที่เป็นแถบแม่เหล็กซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 ล้านใบในปัจจุบัน ให้หมดภายใน 3 ปี หรือ ภายใน 31 ธ.ค. 2562 นี้

"เท่าที่ติดตามดูในภาพรวม แบงก์มีความพร้อมในการออกบัตรใหม่แล้ว ส่วนตู้เอทีเอ็มที่จะรองรับระบบชิปการ์ดก็มีความพร้อม 80-90% แล้ว ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่ 100% เพราะตู้บางตู้ก็ไม่สามารถอัพเกรดรับใหม่ได้ เพราะใช้มานานแล้วต้องเปลี่ยนตู้ใหม่ไปเลย จึงต้องให้เวลาในการทำงานบ้าง แต่จากนี้ไปในอีก 3 ปีข้างหน้าจะไม่มีบัตรแถบแม่เหล็กแล้ว"นางทองอุไรกล่าว 

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารสมาชิกจะไม่คิดค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตระบบแถบแม่เหล็กมาเป็นระบบชิปการ์ดเพิ่ม ยังคิดในอัตราเดิม ไม่ว่าการเข้ามาทำบัตรใหม่ หรือการโอนเงิน กดเงินข้ามกันระหว่างธนาคาร เนื่องจากระบบมันไม่ได้แตกต่างจากกัน เพียงแต่เป็นระบบที่ปลอดภัยขึ้น และหากคนใช้มากขึ้นไปใช้บริการที่สาขาลดลงต้นทุนการให้บริการของธนาคารก็จะลดลงได้ในอนาคต

ทั้งนี้ คณะกรรมการระบบการชำระเงิน(กรช.) ได้เตรียมการเปลี่ยนระบบร่วมกับธนาคารพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อช่วยให้ผู้ถือบัตรมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการปลอมแปลงบัตร (counterfeit card fraud) ในประเทศ ที่เกิดจากช่องโหว่ของบัตรแถบแม่เหล็กที่อาจถูกโจรกรรมข้อมูล (skimming) ที่สร้างความเสียหายในแต่ละปีไม่น้อย ให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม และจ่ายค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าผ่านเครื่องรับบัตร (POS) แทนเงินสดมากขึ้น เป็นการต่อยอดการใช้ระบบชำระเงินทางอีล็กทรอนิกส์( e-Payment) สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบชำระเงินแห่งชาติ (National e-Payment) ของรัฐบาลด้วย