posttoday

วางแผนก่อนแก่ ดูแลชีวิตหลังเกษียณ

16 ตุลาคม 2558

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ คือ ทำให้ประชาชนมีเงินได้ เงินออม และเงินบริโภค สูงทั้งหมด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

โดย...วารุณี อินวันนา

กระทรวงการคลังประเมินงบประมาณสวัสดิการชราภาพของระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในปี 2567 จะเป็นภาระในระดับสูงสุด 8 แสนล้านบาท คิดเป็น 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ส่วนระดับต่ำสุดน่าจะอยู่ที่ 6.74 แสนล้านบาท คิดเป็น 1% ของจีดีพี

ด้วยระดับค่าใช้จ่ายขนาดนี้กับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดวิกฤตขึ้นในประเทศไทย อย่างวันนี้ประกันสังคมประกาศออกมาว่ากองทุนจะติดลบในอีก 20 ปีข้างหน้า ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งหาวิธีรับมืออย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “วางแผนก่อนแก่ ดูแลชีวิตหลังเกษียณ” ว่า การดูแลสังคมผู้สูงอายุให้มีเงินยังชีพที่เพียงพอ เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญใหม่ที่เป็นภาคบังคับ กับคนที่ไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญที่มีอยู่ 26 ล้านคน แต่การบังคับให้คนออมเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ต้องทำการศึกษาให้รอบด้านและต้องเกิดในสภาวะเศรษฐกิจต้องดีถึงจะเกิดได้ ส่วนคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการ จะเข้าสู่ระบบนี้ก็ได้

“เรื่องนี้ศึกษาโครงสร้างอยู่ ต้องรอบคอบ อาศัยผู้เชี่ยวชาญจากทุกกลุ่ม ทุกวันนี้ไม่มีหน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการบำนาญผู้สูงอายุแบบองค์รวม ทำให้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ อย่าง กอช.ตั้งขึ้นมาแล้วไม่เพียงพอ” สมชัย กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามบริหารงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเจียดเงินมาดูแลผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีรายได้ของตัวเอง จึงได้มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อรัฐบาลจะได้ลดเงินอุดหนุนท้องถิ่นที่ใช้งบปีละ 2-3 แสนล้านบาท และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีด้วยระบบออนไลน์ หรืออี-เพย์เมนต์ ทำให้การหลีกเลี่ยงภาษีเป็นศูนย์

อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องเริ่มออมด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงาน จากเดิมวิชาเศรษฐศาสตร์สอนเรื่องการออมว่า รายได้ลบรายจ่าย ที่เหลือนำไปออม ทำให้เงินออมไม่พอ ต้องคิดใหม่ ปรับสมการใหม่เป็นรายได้ลบเงินออม เงินที่เหลือค่อยนำไปใช้

“สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ คือ ทำให้ประชาชนมีเงินได้ เงินออม และเงินบริโภค สูงทั้งหมด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” สมชัย กล่าว

ขณะที่ สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า บริษัทประกันมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มเริ่มตั้งแต่กลุ่มอายุ 20-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงสร้างฐานะ อายุ 40-50 ปี เป็นช่วงความมั่นคง และเกษียณอายุ 51 ปีขึ้นไป โดยมีหลายรูปแบบตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าทุกคน ทั้งความคุ้มครอง การออม และการลงทุนขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าสนใจทำประกันประเภทไหน และลูกค้าสามารถซื้ออนุสัญญาเพิ่มเติมได้ ด้านอุบัติเหตุ สุขภาพ และโรคร้ายแรง

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประชาชนไม่ควรพึ่งสวัสดิการรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะรัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอในการใช้จ่าย และเงินที่ใช้มาจากภาษีประชาชน นอกจากนี้ในอนาคตวัยทำงานมีน้อยกว่าผู้สูงอายุ การจัดภาษีคนทำงานมาจ่ายผู้สูงอายุเป็นไปได้ยาก ดังนั้นต่างพึ่งตนเองด้วยการให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องกระจายความเสี่ยงด้านประกันชีวิตไม่ควรพึ่งทางใดทางหนึ่งมากเกินไป

ด้าน วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมนักวางแผนการเงินไทย แนะนำการจัดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อการเกษียณไว้ 4 รูปแบบ อาทิ คนวัย 55 ปีขึ้นไป ควรลงทุนแบบอนุรักษนิยม ด้วยการฝากเงิน หรือในตลาดเงิน 20% พันธบัตร หรือหุ้นกู้ 40% อสังหาริมทรัพย์ 20% หุ้นไทย 10% หุ้นต่างประเทศ 10% จะได้รับผลตอบแทน 5.10% ค่าความเสี่ยงอยู่ในระดับ 6.60% ส่วนคนวัย 20-30 ปี สามารถรับความเสี่ยงได้สูง จึงควรจะมีหุ้นไทย 35% หุ้นต่างประเทศ 25% อสังหาริมทรัพย์ 15% พันธบัตรหรือหุ้นกู้ 15% และเงินฝาก 10%