posttoday

กสิกรชี้หั่นเครดิตบราซิลไม่กระทบเทอมฟันด์

11 กันยายน 2558

บลจ.กสิกรไทย เผยกรณีแซมบ้าถูกหั่นเครดิต ยังไม่สะเทือนกองทุนเทอมฟันด์ ส่วนกอง FIF กระทบน้อย

บลจ.กสิกรไทย เผยกรณีแซมบ้าถูกหั่นเครดิต ยังไม่สะเทือนกองทุนเทอมฟันด์ ส่วนกอง FIF กระทบน้อย
   
นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า การที่สถาบันจัดอันดับ S&P ปรับลดอันดับเครดิตของประเทศบราซิลจากระดับ BBB-ลงมาอยู่ที่ BB+ เป็นระดับต่ำกว่าระดับที่สามารถเข้าไปลงทุนได้ เป็นผลจากการขาดดุลงบประมาณของบราซิลที่มีแนวโน้มแย่ลง โดย S&P คาดว่าทั้งในปีนี้และปีหน้า จะขาดดุลประมาณ 8% ของ GDP
     
นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจบราซิลมีแนวโน้มถดถอยจากผลกระทบค่าเงินที่อ่อนค่าต่อเนื่อง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของบราซิล รวมถึงปัญหาความร่วมมือทางการเมืองภายในประเทศที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า GDP ของบราซิลปีนี้จะหดตัวลง 2.5%  

อย่างไรก็ตาม สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นๆ ได้แก่ FITCH และ Moody’s ยังคงอันดับเครดิตของบราซิลอยู่ที่ BBB และ Baa3  ตามลำดับ
   
"ปัจจุบันรัฐบาลบราซิลยังไม่ได้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น จึงยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกองทุนของบลจ.กสิกรไทย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน  บราซิลเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 7 ของโลกกว่า 3.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้หนี้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลบราซิล เป็นหนี้ที่เกิดจากสกุลเงินในประเทศ จึงได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเรียลค่อนข้างจำกัด"นายนาวิน กล่าว
   
สำหรับกองทุนตราสารหนี้ประเภทเทอมฟันด์ของบลจ.กสิกรไทยที่เปิดขายในช่วงที่ผ่านมาลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในบราซิลและกองทุนส่วนใหญ่จะครบกำหนดอายุใน 3-6 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่เสนอขายสำหรับผู้ลงทุนในกลุ่ม AI หรือผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูง ซึ่งกองทุนมีนโยบายที่สามารถลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝากที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิตหรือที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ลงทุน และกองทุนมีการป้องกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้อยู่แล้ว ดังนั้นผู้ลงทุนที่กังวลว่าโอกาสรับผลตอบแทนอาจจะลดลง จึงสามารถคลายความกังวลลงไปได้
   
ส่วนกองทุนต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดเค โกลบอล บอนด์ (K-GB)ได้รับผลกระทบในทางตรงค่อนข้างน้อย เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลบราซิลเพียง 6%  และรัฐบาลบราซิลยังไม่ได้มีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น แต่อาจมีความเสี่ยงทางอ้อมจากความผันผวนของราคาตราสาร รวมถึงจากอัตราแลกเปลี่ยนของบราซิล
   
"บลจ.กสิกรไทยยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุนเพิ่มในกองทุน K-GB และแนะนำให้รอดูสถานการณ์ไปก่อน  ขณะที่กองทุนเปิดเค โกลบอล แอลโลเคชั่น (K-GA) ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนบราซิล 0.05% และลงทุนในหุ้นบราซิลประมาณ 0.5% จึงไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยสำคัญ นอกจากนี้ K-GA กระจายการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกและมีการปรับพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จึงยังสร้างผลตอบแทนน่าพอใจได้
   
อย่างไรก็ตาม บลจ.กสิกรไทย ได้มีการชะลอการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในตราสารหนี้ของบราซิลมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะมองว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นๆ ยังมีโอกาสที่จะออกมาปรับลดอันดับเครดิตของบราซิลเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต โดยบลจ.กสิกรไทยจะติดตามสถานการณ์และประเมินเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลกระทบแก่ผู้ลงทุนน้อยที่สุด