posttoday

เตือนบิทคอยน์เสี่ยงไม่มีกฎหมายรองรับ

27 กุมภาพันธ์ 2557

ชี้บิทคอยน์มีความเสี่ยงมากมาย ไม่ปลอดภัยและขาดกฎหมายรองรับ แนะมีวิธีป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอีกมาก

ชี้บิทคอยน์มีความเสี่ยงมากมาย ไม่ปลอดภัยและขาดกฎหมายรองรับ แนะมีวิธีป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอีกมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง "Bitcoin...เงินยุคดิจิตอล กับหลากความเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึง" ระบุว่า Bitcoin กำลังถูกตั้งคำถามอย่างมากในสังคมขณะนี้ หลังจากที่บริษัทผู้ให้บริการ Bitcoin Exchange รายใหญ่แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ประสบปัญหาการให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและล่าสุดได้มีการปิดตัวลงชั่วคราว  เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาแฮกเกอร์ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดและกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนของ Bitcoin ลดลงแรง จนมีผลต่อผู้ใช้/ถือครอง Bitcoin จำนวนมาก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นวัตกรรม Bitcoin มีผู้ใช้มากขึ้นและเป็นที่กล่าวถึงในสังคมออนไลน์ เนื่องจากถือเป็นสกุลเงินในรูปแบบดิจิตอล (Crypto Currency) ซึ่งถูกสร้างและเก็บมูลค่าไว้ในโลกออนไลน์ โดยเงินเสมือน (Virtual Money) ดังกล่าว เพิ่มบทบาทมากขึ้นในมิติที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสินค้า/บริการที่ ‘จับต้องได้’ ขณะที่ในปัจจุบัน ก็เริ่มมีผู้ให้บริการบางรายรับแลกเปลี่ยนเงินเสมือนดังกล่าวเป็นเงินจริงได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี นอกจากประเด็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ปะทุขึ้นนั้น คงต้องยอมรับว่าการใช้ Bitcoin แทนเงินจริงอย่างแพร่หลายในทางปฏิบัตินั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะยังต้องการบทพิสูจน์อีกมาก หลังจากที่ Bitcoin ยังขาดคุณสมบัติของเงินที่ดี เหมือนที่เงินตราสกุลต่างๆ (Fiat Money) โดยทั่วไปมี อาทิ คุณสมบัติในการรักษามูลค่า (Store of Value) ขณะเดียวกัน การขาดความยอมรับในแง่ของกฎหมาย และการควบคุมธุรกรรมโดยกติกามาตรฐานก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ผู้ที่สนใจที่เข้ามาใช้เงินเสมือนอย่าง Bitcoin จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

ทำความรู้จักกับการใช้งานของ Bitcoin

ในการเริ่มใช้ Bitcoin เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ จะต้องมีบัญชีของผู้ใช้งาน ผ่านการสร้าง “Bitcoin Wallet” สำหรับเก็บรักษา Bitcoin โดย Bitcoin Wallet สามารถที่จะติดตั้งทั้งบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอุปกรณ์พกพา โดย Software Bitcoin Wallet จะเก็บยอดเงินคงเหลือ ประวัติการทำธุรกรรมเบื้องต้น และที่อยู่ของผู้ที่ทำธุรกรรมด้วย แต่จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้ว่าเป็นใคร (Anonymity) และไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนในการใช้บริการ

เตือนบิทคอยน์เสี่ยงไม่มีกฎหมายรองรับ

การทำธุรกรรมสามารถทำได้โดยระบบจะส่งข้อมูลของธุรกรรม พร้อมกับลายเซ็นต์ดิจิทัลเฉพาะบุคคล (Key หรือ Signature) ซึ่งสัมพันธ์กับ Wallet Address ของผู้ส่งรายการธุรกรรม ไปยังผู้ใช้คนอื่น ๆ ภายในโครงข่ายของผู้ใช้ Bitcoin ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบลายเซ็นต์ของผู้ส่งรายการ ก่อนที่จะมีการอนุมัติการทำรายการในระยะเวลาต่อมา ทั้งนี้ การใช้ลายเซ็นต์ดิจิทัลที่ถูกออกแบบให้มีการตรวจสอบค่อนข้างซับซ้อน ถูกคาดหวังว่าจะช่วยให้การโอนเงินในระบบ Bitcoin นั้นสามารถทำได้อย่างปลอดภัย และป้องกันการปลอมแปลงหรือทำซ้ำ

ด้านกลไกการรักษามูลค่าของ Bitcoin   ข้อตกลงของ Bitcoin (Bitcoin Protocol) มีการกำหนดไว้ว่าจำนวน Bitcoin ที่ถูกสร้างขึ้น จะมีจำนวนทั้งหมดไม่เกิน 21 ล้านหน่วย (จากปัจจุบันที่มีจำนวน Bitcoin ทั้งสิ้น 12 ล้านหน่วยในระบบ) ในขณะที่ หน่วยย่อยที่สุดของ Bitcoin นั้น มีจุดทศนิยมได้สูงถึง 100 ล้านจุด เพื่อประโยชน์ของการตั้งราคาสินค้า/บริการ หรือจำนวนการโอนเงินระหว่างกันที่มีความยืดหยุ่นสูงสุด

ปริมาณการใช้ Bitcoin ในการทำธุรกรรมเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็มีหลายปัญหาด้านความปลอดภัย

การใช้ Bitcoin เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2555 ผ่านการเพิ่มจำนวนร้านค้าที่ยอมรับ Bitcoin ในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ซึ่งขยายวงจากการนิยมใช้ Bitcoin ในการซื้อสินค้าและ Features ต่างๆ ในเกมออนไลน์ในช่วงเริ่มแรก มาสู่ร้านค้าประเภท E-Commerce ร้านอาหารประเภท Quick Service Restaurants และการชำระค่าเทอมของสถานศึกษาบางแห่งในต่างประเทศ    ขณะที่ ในปัจจุบัน ก็เริ่มมีผู้ให้บริการ Bitcoin ATMs ในบางประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และแคนาดา ซึ่งผู้ให้บริการ Bitcoin ดังกล่าว ไม่ใช่สถาบันการเงิน จึงทำให้ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางชาตินั้นๆ

ทั้งนี้ ปริมาณการทำธุรกรรมด้วย Bitcoin ในปี 2557 เฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 ธุรกรรมต่อวัน ในขณะที่ มูลค่าตลาดของเงิน Bitcoin ณ วันที่ 25 ก.พ. 2557 อยู่ที่ประมาณ 7.2 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยมูลค่า 1 Bitcoin จะอยู่ที่ประมาณ 534 ดอลลาร์ฯ

เตือนบิทคอยน์เสี่ยงไม่มีกฎหมายรองรับ

 

เตือนบิทคอยน์เสี่ยงไม่มีกฎหมายรองรับ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการใช้ Bitcoin จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ความท้าทายต่อการใช้ Bitcoin ก็เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่มีกลุ่มแฮกเกอร์เข้ามาพยายามโจรกรรม Bitcoin รวมถึง ปัญหาข้อบกพร่องของกระบวนการทำธุรกรรม (Bugs) ที่ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ แฮกเกอร์จะสามารถสร้างปริมาณ Bitcoin โดยไม่ได้รับอนุญาตจากระบบ อันส่งผลให้เว็บไซต์ของสมาชิกบางแห่งต้องมีการระงับการแลก Bitcoin เป็นเงินจริง และมีการปิดตัวลงชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาด้านความปลอดภัย ส่งผลให้มูลค่าการแลกเปลี่ยน Bitcoin ปรับร่วงลงอย่างรวดเร็ว ดังเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา โดยมูลค่า Bitcoin ของผู้ให้บริการ Bitcoin Exchange ที่ประสบปัญหา (Mt.Gox) เสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 900 ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2557 มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ฯในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557

เตือนบิทคอยน์เสี่ยงไม่มีกฎหมายรองรับ

แม้การใช้ Bitcoin จะมีข้อดีบางประการ...แต่ก็ยังมีหลากข้อควรระวัง ซึ่งต้องคำนึงถึง

ทั้งนี้ การใช้ Bitcoin นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกรรมระหว่างกัน ผ่านการลดตัวกลางทางการเงิน อันน่ามีส่วนช่วยให้กิจกรรมการค้าสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้ Bitcoin เพื่อการสะสมมูลค่าและเป็นสื่อกลางในการใช้จ่าย มีความเสี่ยงและประเด็นที่ต้องระมัดระวัง อันอาจมีผลกระทบทั้งในมิติของระดับบุคคล และระดับมหภาค ดังนี้

- ความเสี่ยงด้านกฎหมาย   ทั้งนี้ การที่ Bitcoin เป็นนวัตกรรมการเงินที่ค่อนข้างใหม่ และยังไม่มีกฎหมายรองรับให้สามารถใช้ชำระหนี้ได้จริง จึงส่งผลให้การทำธุรกรรมต่างๆ ผ่าน Bitcoin มีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ซึ่งในกรณีของประเทศไทย การทำธุรกรรมโดยใช้ Bitcoin ก็ยังขาดกฎหมายรองรับเช่นกัน (อาทิ การแลก Bitcoin เป็นเงินบาท ยังไม่รองรับด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้รับแลก Bitcoin ในไทยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 นอกจากนี้ กฎหมายไทยยังระบุว่าในการซื้อ-ขายสินค้าในราชอาณาจักรไทย การชำระหนี้ได้ตามกฎหมายจำต้องใช้เงินบาทเป็นสื่อกลางในการชำระเท่านั้น) ทำให้ผู้ซื้อต้องรับความเสี่ยงจากความผิดพลาด หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าและฝากเงินโดยผ่านระบบเครือข่ายของ Bitcoin ด้วยตัวเอง

- ความเสี่ยงในด้านความปลอดภัย โดยเนื่องจาก Bitcoin นั้นเป็น ‘เงินเสมือน’ ในโลกดิจิตอล และไม่มีตัวตนจริง ส่งผลให้การเก็บรักษาอาจจะเผชิญกับภัยคุกคามในโลกโซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นการถูกแฮกเกอร์โจรกรรมข้อมูล รวมทั้งภัยคุกคามจากไวรัสคอมพิวเตอร์ที่ก่อความเสี่ยงต่อการสูญหายของ Bitcoin ได้

- ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือและความผันผวนของอัตรา Bitcoin  เนื่องจาก Bitcoin เป็น ‘เงินเสมือน’ ที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ต่างจากค่าเงินสกุลต่างๆ (Fiat Money) ที่ส่วนใหญ่จะหนุนหลังด้วยเงินสกุลหลัก หรือทองคำ ทำให้มูลค่าของ Bitcoin ขึ้นกับความน่าเชื่อถือของผู้ใช้เป็นหลัก  ดังนั้นแล้ว ภายใต้กลไกการควบคุมที่ปราศจากหน่วยงานกลางที่มีความน่าเชื่อถือในการกำกับดูแล จึงทำให้เปิดประเด็นเสี่ยงด้านความโปร่งใสอย่างยากจะหลีกเลี่ยง  นั่นหมายความว่า หากปรากฏเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้ Bitcoin ก็จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยน Bitcoin มีความผันผวนสูงกว่าค่าเงินของประเทศต่างๆ  รวมถึงมีโอกาสของการเสื่อมค่าอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและบริการ ซึ่งรับชำระเงินด้วย Bitcoin นั้น ต้องยอมรับว่า การที่มูลค่าของ Bitcoin มีความผันผวนสูงและมีโอกาสเสื่อมค่าได้ง่ายดังกล่าว จะทำให้การวัดมูลค่าของการทำธุรกรรม ตลอดจนการประเมินกำไร-ขาดทุนจากการขายสินค้าและบริการที่แท้จริง ทำได้ค่อนข้างยากและผันผวนตามมูลค่าของ Bitcoin อันหมายถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นด้วย

- ความเสี่ยงที่อาจจะถูกใช้เป็นช่องทางของการฟอกเงิน โดยการที่ลักษณะเฉพาะ (Identity) ของผู้ถือ Bitcoin Wallet จะไม่มีการตรวจสอบ ส่งผลให้มิจฉาชีพอาจใช้ช่องทางในการใช้ Bitcoin เพื่อฟอกเงิน หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลี่กเลี่ยงภาษีจากการขายสินค้าและบริการได้

- ความเสี่ยงต่อประสิทธิผลและเสถียรภาพนโยบายการเงิน  โดยในกรณีที่การใช้ Bitcoin ในระบบเศรษฐกิจมีความแพร่หลายมากขึ้น ก็อาจกระทบประสิทธิภาพในการกำกับดูแลนโยบายการเงินของทางการ เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถควบคุมปริมาณอุปทาน Bitcoin ในตลาดได้ อีกทั้ง ยังขาดหน่วยงานสากลในการกำกับดูแลการใช้ Bitcoin  จึงทำให้การใช้เครื่องมือทางการเงินทั่วไปในปัจจุบันอย่างเช่น การดูแลปริมาณเงินในระบบ ไม่ครอบคลุมถึงธุรกรรมที่ทำผ่าน Bitcoin  นอกจากนี้ อาจมีกลุ่มของผู้ไม่หวังดีใช้ Bitcoin เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจได้เช่นกัน

สำหรับประเทศไทย การส่งเสริมการใช้ E-Money และการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้าน    ระบบการชำระเงินในประเทศ น่าจะช่วยเสริมเสถียรภาพและลดต้นทุนในการทำธุรกรรมของระบบโดยรวม

สำหรับแนวทางในการลดต้นทุนและเพิ่มเสถียรภาพในการทำธุรกรรมของระบบเศรษฐกิจไทย ทางการไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชำระเงิน ผ่านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชำระเงินในประเทศ รวมทั้งการลดการใช้เงินสด อันมีต้นทุนในการบริหารจัดการสูงกว่าการใช้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Money)

ที่ผ่านมา ทางการไทยได้มีการกำหนดกรอบกติกาและสนับสนุนในการใช้ E-Money ที่สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงินแทนเงินสดที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการสูง และมีความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการเข้ามาเล่นในตลาดบ้างแล้ว อาทิ Rabbit Card, MPay, และ Smart Purse  นอกจากนี้ ทางการไทย โดย ธปท. ก็ได้อนุญาตให้มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาในธุรกิจการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมถูกลง   ขณะเดียวกัน เพื่อเพิ่มทางเลือกและเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน  ก็ยังได้ผลักดันการจัดตั้งเครือข่ายชำระเงินภายในประเทศ (Local Switching) ในปี 2556 ที่ผ่านมา และส่งเสริมผู้ให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ให้บริการเครื่องรับชำระเงิน (POS) โดยเฉพาะในมิติของการเพิ่มจำนวนผู้เล่นและเครื่องรับชำระเงินดังกล่าว ให้รองรับการใช้ E-Money ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทางการไทยก็มีแผนดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของระบบดังกล่าวมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ สำหรับแผนงานที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานเพื่อมุ่งลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินของระบบโดยรวมนั้น  ที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างมาตรฐานบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ (National Standard) ซึ่งในระยะแรกคงเริ่มใช้กับบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม อันน่าจะมีผลในการช่วยลดค่าธรรมเนียมการหัก/ชำระบัญชีระหว่างธนาคารและค่าธรรมเนียมส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าพัฒนาการดังกล่าว คงทยอยปรากฎความคืบหน้าที่ชัดเจนขึ้นภายในปี 2557 นี้

โดยสรุป แม้ Bitcoin จะเริ่มต้นจากแนวคิดที่ดีซึ่งต้องการลดอุปสรรคและต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน อันจะช่วยส่งเสริมกิจกรรมการค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในยุคดิจิตอลไร้พรมแดน แต่คงต้องยอมรับว่า กลไกนี้ยังต้องรอการพิสูจน์ในหลายประเด็นเฉพาะหน้า อาทิ ความเชื่อมั่นต่อมูลค่าของ Bitcoin รวมถึงประเด็นด้านความปลอดภัย และการยอมรับให้สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย   ดังนั้นแล้ว สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการใช้นวัตกรรมใหม่นี้ คงต้องศึกษาผลดีและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน ขณะที่ ทางการเองก็คงต้องติดตามพัฒนาการของระบบ Bitcoin นี้อย่างใกล้ชิดเพื่อจะได้เตรียมแนวทางและกรอบกติกาในการดูแลและตั้งรับที่เหมาะสมต่อไปในกรณีที่จำเป็น  

นอกจากนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับการเพิ่มเสถียรภาพและลดต้นทุนการทำธุรกรรมในประเทศไทย ทางการไทยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ E-Money การสร้างมาตรฐานบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ (National Standard) และการจัดตั้ง Local Switching ซึ่งทำให้เชื่อว่า การผลักดันในแนวทางต่างๆ ดังกล่าว คงจะทยอยปรากฏผลบวกต่อกิจกรรมการชำระเงินในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทยมากขึ้นในอนาคต