posttoday

สัญญาณเศรษฐกิจซบต่อมีการเมืองกดดัน

17 กุมภาพันธ์ 2557

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ สถานการณ์การเมืองเป็นตัวกำหนดกรอบฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดทั้งปีขยายตัว 3%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ สถานการณ์การเมืองเป็นตัวกำหนดกรอบฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดทั้งปีขยายตัว 3%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "เศรษฐกิจไตรมาส 4/2556: การบริโภคและการลงทุนหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ" หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2556 และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยลบหลายประการ

จีดีพีไตรมาส 4/2556 ชะลอลง 0.6 ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแรงลง

แม้ตัวเลขจีดีพีในภาพรวมของไตรมาส 4/2556 จะออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่หากพิจารณาในองค์ประกอบแล้ว จะพบว่า กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการลงทุน ล้วนหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ การบริโภคของภาครัฐขยายตัวในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้จีดีพียังคงเป็นบวกได้ร้อยละ 0.6 นั้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง ซึ่งสศช. ระบุว่า ปริมาณสต็อกของสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะข้าวเปลือก โดยผลจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังดังกล่าว มีส่วนทำให้จีดีพีขยายตัว (Contribution to GDP Growth) ถึงร้อยละ 1.8 ซึ่งบ่งชี้ว่า หากไม่มีรายการดังกล่าว อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2556 จะอยู่ต่ำกว่าร้อยละศูนย์

สัญญาณซบเซาของการใช้จ่ายในประเทศ ...เพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

---> เศรษฐกิจไทยชะลอลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 โดยเป็นผลมาจากสัญญาณที่ซบเซาของการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จีดีพีในไตรมาส 4/2556 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.7 (YoY) ในไตรมาส 3/2556 ขณะที่ จีดีพีที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.6 (QoQ, s.a.) สะท้อนโมเมนตัมที่แผ่วลงจากที่เติบโตร้อยละ 1.3 (QoQ, s.a.) ในไตรมาสก่อนหน้า ท่ามกลางบรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

---> การใช้จ่ายภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่เพียงพอที่จะชดเชยภาพการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องของการบริโภคและการลงทุน

      - การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 4.5 (YoY) ในไตรมาส 4/56 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 1.2 (YoY) ในไตรมาส 3/56 โดยแม้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากฐานที่สูงในช่วงปลายปี 2555 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน แต่เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ/หนี้ครัวเรือน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจใช้จ่ายของผู้บริโภคระมัดระวังมากขึ้น

      - การลงทุนในภาพรวมทรุดตัวลงถึงร้อยละ 11.3 (YoY) ในไตรมาส 4/56 ซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบ 19 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาส 2/52) เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 6.3 (YoY) ในไตรมาส 3/56 โดยแม้ฐานเปรียบเทียบในช่วงปลายปีก่อนจะค่อนข้างต่ำ แต่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่ยังมีแนวโน้มค่อนข้างคลุมเครือ ก็กดดันให้การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐหดตัวลงร้อยละ 13.1 (YoY) และหดตัวร้อยละ 4.7 (YoY) ตามลำดับ

      - การใช้จ่ายของภาครัฐ เป็นไปอย่างล่าช้า โดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.9 (YoY) ชะลอลงค่อนข้างมากจากร้อยละ 7.3 (YoY) ในไตรมาสก่อนหน้า

---> การส่งออกสุทธิเป็นแรงหนุนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยแม้การส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.0 (YoY) ในไตรมาส 4/56 ท่ามกลางภาวะการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของอุปสงค์จากตลาดโลก และปัญหาเฉพาะของสินค้าส่งออกบางรายการ (จากที่เติบโตร้อยละ 3.8 ในไตรมาส 3/56) แต่การนำเข้าสินค้าและบริการที่พลิกกลับมาหดตัวลงร้อยละ 3.5 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาส 3/56) ก็ส่งผลทำให้การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง และทำหน้าที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยที่กำลังขาดแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศ

สำหรับภาพรวมในปี 2556 นั้น เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 ชะลอลงจากร้อยละ 6.5 ในปี 2555 ตามภาวะอ่อนแรงของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยการบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 0.2 การลงทุนโดยรวมหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 1.9 ขณะที่ การใช้จ่ายของภาครัฐชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.9 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (ณ ราคาคงที่) พลิกกลับมามีบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557: มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของบทสรุปทางการเมืองในประเทศ ทำให้กรอบเวลาที่ไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำลังเพิ่มแรงกดดันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้มากยิ่งขึ้น โดยนอกจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อลากยาวจะมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐแล้ว ยังมีผลทางอ้อมต่อบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวแปรจากสถานการณ์ทางการเมืองจะยังคงมีผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยตลอดในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2557 ซึ่งทำให้คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 1.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ซึ่งต่ำลงกว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.6

สำหรับภาพรวมของปี 2557 นั้น แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะคงกรอบตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงประมาณร้อยละ 2.2-3.7 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 3.0 ไว้ในขณะนี้ แต่จะยังคงติดตามสถานการณ์การเมือง ตลอดจนตัวแปรอื่นๆ อาทิ ค่าครองชีพ/หนี้ครัวเรือน ภาวะภัยแล้ง (ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อรายได้เกษตรกร) ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ที่อาจมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

สัญญาณเศรษฐกิจซบต่อมีการเมืองกดดัน