posttoday

แนะผู้ส่งออกเร่งปรับตัวรับกระแสปฏิรูปจีน

15 มกราคม 2557

ผู้ส่งออกไทยอย่าตกขบวน เร่งปรับตัวรองรับเกาะกระแสปฏิรูปจีน เผย 5 กลุ่มทิศทางสดใส

ผู้ส่งออกไทยอย่าตกขบวน เร่งปรับตัวรองรับเกาะกระแสปฏิรูปจีน เผย 5 กลุ่มทิศทางสดใส

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ออกบทวิจัยเกี่ยวกับการปรับตัวของผู้ส่งออกไทยท่ามกลางการปฏิรูปขนานใหญ่ของจีน โดยระบุว่า ในการประชุมของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งล่าสุด จีนได้เผยแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมฉบับใหม่ในทศวรรษหน้า ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสังคม

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1) เพื่อลดบทบาทการควบคุมเศรษฐกิจของภาครัฐ (visible hand) และเพิ่มความสำคัญของกลไกราคา (invisible hand) ซึ่งทำให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการจัดสรรปัจจัยการผลิตมากขึ้น  2) ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน จากการขับเคลื่อนของการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก แทนการส่งออกและการลงทุน 3) ทำการปฏิรูประบบการเงิน การคลัง (รวมถึงรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น) และสังคม เช่น ให้สิทธิแรงงานย้ายถิ่นสู่เมือง และผ่อนคลายนโยบายบุตรคนเดียว เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาวะที่โครงสร้างประชากรวัยทำงานของจีนมีแนวโน้มลดลง และ 4) มุ่งปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หลังการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเงาตามตัว

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยกรุงศรี จึงประเมินว่าแผนการปฏิรูปฯ ดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวชะลอลงเหลือเพียง 7.5%  ในปี 2556 จากอัตราเฉลี่ย 10.5% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงจะช่วยลดความร้อนแรงของการขยายตัวของสินเชื่อในระบบการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อที่ผ่านภาคธนาคารเงา (shadow banking) ซึ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีสัดส่วนถึง 25% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความเปราะบางขึ้นในระบบการเงิน สะสมพอกพูนกลายเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ และลุกลามจนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนในอนาคตที่ยังมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงและมีการบริโภคเป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายดึงคนชนบทเข้าสู่เมืองน่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลาง (รูปที่ 2) ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ไม่เพียงแต่จะหนุนให้ปริมาณการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ยังทำให้รูปแบบการใช้จ่ายเปลี่ยนไปจากที่เคยบริโภคสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและเสื้อผ้า ไปเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) หรือสินค้ามีคุณภาพมากขึ้น

พร้อมคาดว่าการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยจะเพิ่มเป็น 74% ของการใช้จ่ายรวมของคนในเมือง (urban spending) ภายในปี 2568 จากปัจจุบันราว 55% ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยที่ใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี 2563 1/ โดยตัวอย่างสินค้าหรูจากตะวันตกที่ปรับทิศทางการลงทุนสู่ตลาดผู้บริโภครายได้สูงของจีน ได้แก่ ค่ายรถ BMW ซึ่งผลิตรถรุ่น limited edition ที่ขายเฉพาะในจีน รวมถึงสินค้าแบรนด์ Hermes และ Gucci ในส่วนของธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในจีนแล้ว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน  ธนาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล โรงแรม ค้าปลีก ร้านอาหาร

สำหรับในระยะต่อไป โครงสร้างการส่งออกของไทยอาจปรับรูปแบบจากที่ผลิตในฐานะที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนเป็นหลัก มาเป็นผลิตเพื่อขายหรือตอบสนองชนชั้นกลาง (made for China) มากขึ้น ซึ่งรวมถึงสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วิจัยกรุงศรีเห็นว่าสินค้าและบริการที่น่าจะได้ประโยชน์ในตลาดจีน ได้แก่

1) สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น สปา อุปกรณ์การแพทย์  2) บริการทางการเงิน (เช่น การบริหารความมั่งคั่ง-wealth management) 3) สินค้าที่สะท้อนฐานะทางสังคม (superior social status) 4) สินค้าคุณภาพสูงและมีความปลอดภัย และ  5) สินค้าที่มีภาพลักษณ์และรูปแบบทันสมัย ในส่วนของภาคท่องเที่ยว (นักท่องเที่ยวจีนสร้างรายได้ประมาณ 15% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย) นักธุรกิจไทยอาจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์มาเน้นกลุ่มลูกค้าจีนที่มีรายได้และคุณภาพที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสูง ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยจะต้องเร่งเพิ่มนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สร้างความแตกต่าง (branding) และเพิ่มคุณภาพในสินค้าไทยไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนในครั้งนี้ได้อย่างเต็มที่ และเพื่อพร้อมรับมือกับการแข่งขันในตลาดโลกที่จะเข้มข้นขึ้นในระยะต่อไป