posttoday

สภาพคล่องดีขึ้นหลังธนาคารเร่งระดมเงินฝาก

27 ตุลาคม 2556

สภาพคล่องก.ย.56 ปรับตัวดีขึ้น ส่วนช่วงโค้งสุดท้ายของปี สภาพคล่องคงอยู่ในระดับทรงตัวตามการระดมเงินฝากของธนาคาร

สภาพคล่องก.ย.56 ปรับตัวดีขึ้น ส่วนช่วงโค้งสุดท้ายของปี สภาพคล่องคงอยู่ในระดับทรงตัวตามการระดมเงินฝากของธนาคาร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง  (เบื้องต้น) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เทียบกับสิ้นเดือนสิงหาคม 2556 พร้อมประเมินแนวโน้มสภาพคล่องในระยะถัดไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

สภาพคล่องเดือน ก.ย.2556 ผ่อนคลายลงเล็กน้อย...จากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าผลรวมของเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม

--> ยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 มีจำนวน 9.21 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 3.85 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 9.17 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 (นำโดยการเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กเป็นหลัก) หรือเติบโตร้อยละ 11.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การเติบโตของยอดเงินให้สินเชื่อในเดือนกันยายนที่ผ่านมา คาดว่าได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะที่ การเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรายใหญ่ชะลอลงเล็กน้อย โดยได้รับแรงกดดันบางส่วนจากการคืนหนี้ของผู้ประกอบการ

--> ด้านยอดเงินฝาก มีจำนวน 9.92 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.15 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 9.83 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 ขณะที่ ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) มีจำนวน 7.45 แสนล้านบาท ลดลง 1.35 หมื่นล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า ทำให้เมื่อรวมเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมแล้ว พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 10.66 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.80 หมื่นล้านบาท จากระดับ 10.59 ล้านล้านบาท ในเดือนก่อนหน้าหรือเติบโตราวร้อยละ 8.21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สภาพคล่องดีขึ้นหลังธนาคารเร่งระดมเงินฝาก

-- > สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนกันยายน 2556 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่น้อยกว่าผลรวมของเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม ดังสะท้อนให้เห็นผ่าน

- อัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (Gross Loans to Deposits and Borrowings) ปรับลดลงมาที่ระดับร้อยละ 89.76 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 89.98

- สอดคล้องกับสินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยตามความหมายกว้าง  ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.68 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.58 หมื่นล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นขององค์ประกอบสภาพคล่องด้านเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ส่วนเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ (รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิ) และเงินสดปรับลดลง ทั้งนี้ หากไม่รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิแล้ว สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ระดับ 2.54 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 2.475 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556

สภาพคล่องดีขึ้นหลังธนาคารเร่งระดมเงินฝาก

โค้งสุดท้ายปี 2556: สภาพคล่องอยู่ในระดับทรงตัว...ตามการแข่งขันระดมเงินออมของธนาคาพาณิชย์ เพื่อรับมือกับความต้องการสภาพคล่องที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความต้องการใช้สภาพคล่องในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2556 น่าจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่น่าจะสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตในช่วงโค้งสุดท้ายของปีไว้ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา ตามการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลายของธนาคารพาณิชย์หลังเข้าสู่ฤดูกาลเบิกใช้สินเชื่อเพื่อจับจ่ายใช้สอยในช่วงท้ายปี เพื่อหนุนการเติบโตของสินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายสิ้นปีที่วางไว้ ขณะเดียวกัน ความต้องการสภาพคล่องจากภาครัฐ เพื่อดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ของทางการ และความต้องการระดมทุนของภาคเอกชนทั้งเพื่อลงทุนใหม่และเพื่อรีไฟแนนซ์ ก็ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้น แม้ยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

ด้วยความต้องการสภาพคล่องจากหลายภาคส่วนดังกล่าวข้างต้น คงจะผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องแข่งขันระดมเงินฝากกันอย่างเข้มข้นตามฐานะสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร ผ่านการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้ผลตอบแทนที่สามารถแข่งขันได้กับทางเลือกการออมอื่นๆ เพื่อดึงสภาพคล่องไว้รองรับการดำเนินธุรกิจและเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้กับธนาคาร รวมถึงเพื่อรับมือกับการเข้ามาแข่งขันระดมทุนจากช่องทางการออมอื่นๆ อย่างเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจและหุ้นกู้ของภาคเอกชน ตลอดจนการกระจายเงินออมของผู้ฝากเงินไปสู่ช่องทางการออมอื่นๆ ที่รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและกองทุนรวม LTF/RMF ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่าการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว น่าจะช่วยหนุนให้สภาพคล่องของธนาคารไทยในองค์รวม ณ สิ้นปี 2556 ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อมโยงกับท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนปัจจัยทางการเมืองในประเทศ เนื่องจากอาจมีอิทธิพลต่อความต้องการใช้สภาพคล่องและการวางแผนบริหารผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป