posttoday

กสิกรไทยคาดส่งออกขยายตัวใกล้เคียง2%

27 กรกฎาคม 2556

นักวิเคราะห์ ชี้ ส่งออกเดือนมิ.ย. หดตัวเกินคาดร้อยละ 3.38% ยังต้องจับตาสถานการณ์ครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด

นักวิเคราะห์ ชี้ ส่งออกเดือนมิ.ย. หดตัวเกินคาดร้อยละ 3.38% ยังต้องจับตาสถานการณ์ครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด

การส่งออกของไทยส่งท้ายครึ่งปีแรก ด้วยภาพการหดตัวลงร้อยละ 3.38 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในเดือนมิ.ย.2556 (แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.50) ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น และการฟื้นตัวอย่างเบาบางของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.95 (YoY) โดยมีมูลค่า 113,304 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกัน ทิศทางความอ่อนแอของภาคการส่งออกที่ยังต้องรอปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลัง อาจทำให้กระทรวงพาณิชย์มีการปรับลดเป้าหมายอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี2556ลง

การส่งออกไทยเดือนมิ.ย.2556...หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ภาพรวมการส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย.2556 มีมูลค่า 19,098 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 3.38 (YoY) ตามการหดตัวลงของตลาดส่งออกหลัก ทั้งจีน (หดตัวร้อยละ 16.72) ญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ 11.90) และสหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 9.38) ซึ่งหักล้างแรงหนุนจากการส่งออกไปยังตลาดรองและตลาดศักยภาพที่ยังขยายตัวได้ อาทิ อาเซียน-9 (ขยายตัวร้อยละ 5.53) และออสเตรเลีย (ขยายตัวร้อยละ 6.03) เป็นต้น ทั้งนี้ อุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาดหลัก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยหดตัวลงทุกกลุ่ม โดยสินค้าเกษตรหดตัวลงร้อยละ 10.46 (YoY) ตามการหดตัวของการส่งออกยางพาราที่คู่ค้าหลักอย่างจีนยังมีจำนวนสต็อกสูง และข้าว ซึ่งยังคงประสบปัญหาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวลงร้อยละ 0.39 (YoY) ตามการหดตัวของอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋อง ที่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งที่ขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องจากโรคระบาด ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมก็หดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 1.76 (YoY) ตามการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์ และเม็ดพลาสติก ขณะที่ การส่งออกยานยนต์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกล ยังคงขยายตัว

ด้านการนำเข้าในเดือนมิ.ย. มีมูลค่า 21,013 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 3.01 (YoY) (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 3.51 YoY ในเดือนพ.ค.) ตามการนำเข้าเชื้อเพลิงและสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ที่ขยายตัวร้อยละ 12.22 (YoY) และร้อยละ 3.40 (YoY) ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.88 (YoY) ส่งผลให้ไทยยังคงบันทึกยอดขาดดุลการค้าต่อเนื่องที่ 1,915 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิ.ย. จากที่ขาดดุล 2,304 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค.

จับตาการฟื้นตัวสหรัฐฯ และญี่ปุ่น...ตัวแปรการส่งออกครึ่งปีหลัง

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงเร็วอาจฉุดให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม อาทิ ยางพาราและมันสำปะหลัง ที่คงได้รับผลกระทบทั้งจากอุปสงค์ในจีนที่ลดปริมาณลง (จีนเป็นตลาดหลักสินค้าเกษตรของไทย โดยมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28.16 ของการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมทั้งหมดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556) และทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดในตลาดโลกลดลงด้วย แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ยังพอมีปัจจัยบวกที่อาจจะช่วยชดเชยภาพลบลงได้บางส่วน โดยนอกจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว การส่งออกสินค้าบางรายการของไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวของคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งอาจช่วยประคองให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังสามารถยืนอยู่ในแดนบวกได้

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเริ่มปรากฎการฟื้นตัวที่มั่นคงมากขึ้นแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่อาจได้รับประโยชน์ ดังนี้

- สินค้าที่มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น อาทิ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

- สินค้าที่น่าจะเติบโตดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องยนต์ และวัสดุก่อสร้าง (เหล็กและผลิตภัณฑ์) เป็นต้น

-  สินค้าที่อาจบันทึกอัตราการขยายตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ข้าว น้ำตาลทราย ผัก/ผลไม้กระป๋องและแปรรูป นั้น แม้จะมีสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก อีกทั้งเป็นสินค้าจำเป็น แต่จากปัญหาความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงข้อจำกัดด้านอุปทานของสินค้าบางประเภท ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินค้าในกลุ่มนี้อาจจะยังไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าทั้งสองประเทศได้เต็มที่นัก

สัดส่วนการส่งออกสินค้าของไทย 20 อันดับแรกในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.2556

กสิกรไทยคาดส่งออกขยายตัวใกล้เคียง2%

 

 

กสิกรไทยคาดส่งออกขยายตัวใกล้เคียง2%

โดยสรุป การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย.2556 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 3.38 (YoY) หลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 5.25 (YoY) ในเดือนพ.ค. ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอัตราการหดตัวที่ลดลง แต่ระดับมูลค่าการส่งออกที่ปรับลดลง ก็สะท้อนว่า ภาคการส่งออกของไทยยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อประกอบภาพเข้ากับความอ่อนแอของการฟื้นตัวที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ก็ทำให้ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.95 (YoY)

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2556นั้น คงต้องยอมรับว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่กดดันการฟื้นตัวการส่งออกต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งปีแรก อาจทำให้การส่งออกของไทยต้องเผชิญภาวะที่ยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทยอยฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี ขณะที่ ปัจจัยฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ ก็อาจช่วยเสริมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภท อาทิ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และวัสดุก่อสร้าง (เหล็กและผลิตภัณฑ์) ให้สามารถบันทึกมูลค่าการส่งออกที่ดีขึ้นได้ ซึ่งเมื่อประกอบภาพเข้ากับการส่งออกกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ และยานยนต์ ที่ยังน่าจะเติบโตได้ดีจากอุปสงค์ในตลาดศักยภาพอื่นๆ ก็อาจช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันข้างต้น และประคองให้มูลค่าส่งออกของไทยมีโอกาสค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตัวเลขส่งออกล่าสุดที่ยังคงต่ำกว่าระดับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังคงหดตัว แม้ฐานตัวเลขส่งออกในเดือนมิ.ย. ปีก่อนจะเป็นระดับที่ต่ำอยู่แล้วนั้น นับเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจากหากทิศทางเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักยังคงชะลอตัวลง ก็อาจกดดันให้ภาพการค้าของไทยกับประเทศอื่นในอาเซียนซบเซาลงตามไปด้วย และอาจทำให้มีความเป็นไปได้ที่การส่งออกทั้งปี 2556 จะโน้มเอียงเข้าหากรอบล่างของประมาณการในช่วงร้อยละ 2-7 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย