posttoday

เงินเฟ้อใคร...เงินเฟ้อมัน

24 กรกฎาคม 2562

โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

“เงินเฟ้อ” คำคุ้นหูที่ได้ยินได้เห็นกันบ่อยๆ ตามสื่อต่างๆ เวลาเราดูข่าวเศรษฐกิจ พอเราได้ยินว่าเงินเฟ้อที่ผ่านมาสูงขึ้น หรือมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก ก็จะทำให้คนตกใจว่าจะได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าใจความหมายของเงินเฟ้อจริงๆ เลย แต่คิดว่ากระทบเราแน่ๆ ได้ข่าวมาอย่างไรก็ส่งต่อแบบนั้นไปเรื่อยๆ

จึงต้องหันมาดูก่อนว่าเงินเฟ้อกระทบเราจริงหรือเปล่า ซึ่งก่อนอื่นก็ต้องรู้ความหมายของเงินเฟ้อก่อน เพราะแต่ละคนก็แต่ละความหมายจริงๆ “เงินเฟ้อ” ในทางวิชาการหมายถึง สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโดยทั่วไปอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องของการเพิ่มสูงขึ้นของระดับราคา ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อ จึงหมายถึง อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโดยทั่วไปต่อหนึ่งช่วงเวลา

คนหนึ่งมีเงินเดือนเพิ่มขึ้น 10% แต่ข้าวของก็แพงขึ้น 10% รายได้ที่แท้จริงของคนนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย เพราะไม่สามารถบริโภคสินค้าและบริการได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะสินค้าต่างๆ ก็แพงขึ้นในอัตราเดียวกัน นี้คือความหมายที่คนทั่วๆ ไปเข้าใจ หรือฟังมา โดยไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่าเงินเฟ้อที่ทางการประกาศนั้นคำนวณมาอย่างไร

ซึ่งจริงๆ แล้วอัตราเงินเฟ้อที่ทางการประกาศนั้นมันมีที่มาที่ไป ว่าคำนวณมาอย่างไร แต่ถ้าคนที่ไม่สนใจก็จะเข้าใจว่าอัตราเงินเฟ้อนั้น คือ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโดยทั่วไป ประมาณว่าทุกเรื่องในชีวิตของฉันเพิ่มขึ้น 10% ไปเสียทั้งหมดทุกอย่าง และทุกคนในประเทศนี้ก็ถูกกระทบเหมือนกันหมด ถ้าคุณเข้าใจที่มาที่ไปของตัวเลขเงินเฟ้อ คุณก็จะพบว่าต่างคนก็ต่างมีเงินเฟ้อของตัวเอง

สำหรับการวัดอัตราเงินเฟ้อตามมาตรฐานสากลนั้น ใช้ดัชนีค่าครองชีพผู้บริโภค (Consumer Price Index) เป็นเกณฑ์ เขาวัดอัตราเงินเฟ้อโดยการสำรวจจากประชาชนทั่วไป ว่ามีรสนิยมกันอย่างไร กล่าวคือ พยายามหาพฤติกรรมการบริโภคของคนในประเทศ เช่น ในช่วงเวลาหนึ่งนั้นประชาชนมีการบริโภคข้าว เนื้อหมู ผัก ก๋วยเตี๋ยว ผลไม้ ใช้น้ำมันรถ ดูหนัง รักษาพยาบาล ฯลฯ เพื่อการดำรงชีพมากน้อยเพียงใด

เมื่อรู้พฤติกรรมแล้วก็จะออกสำรวจตลาด ตรวจสอบราคาของสิ่งที่ต้องใช้บริโภค เพื่อการดำรงชีพตามที่กล่าวมา และคำนวณออกมาว่า ณ เวลาหนึ่ง หากต้องมีการบริโภคในรูปแบบดังกล่าวนั้น จะต้องเสียเงินมากน้อยเท่าไร (สมมติว่าเป็น 3,000 บาท) จากนั้นก็สำรวจราคาสิ่งของต่างๆ ในเวลาถัดมา เช่น อีก 1 เดือนถัดมา สำรวจราคาสิ่งของต่างๆ (ชนิดเดียวกับที่เคยสำรวจตอนเดือนก่อน ผมขอเรียกว่า “ตะกร้าใบเดิม”) เพื่อหาว่าต้องใช้เงินเท่าไรเพื่อที่จะซื้อสิ่งของและบริการที่เหมือนเดิม สมมติว่าเท่ากับ 3,030 บาท ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 30 บาทนั้นแหละสะท้อนการสูงขึ้นของราคาสินค้าโดยทั่วไป

จากตัวอย่างพบว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 30 บาท จาก 3,000 บาท เท่ากับว่าค่าใช้จ่ายของตะกร้าใบนี้ใน 1 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 1% หรือเท่ากับ 12% ต่อปี เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นนี้แหละครับคือ อัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทั้งสิ้น เพราะเรากำหนดการบริโภคไว้เหมือนเดิม (ตะกร้าการบริโภคใบเดิม)

ที่กล่าวมาคือการคำนวณหาดัชนีค่าครองชีพ ซึ่งใช้วัดอัตราเงินเฟ้อ เมื่อวิธีการคำนวณอัตราเงินเฟ้อเป็นดังนี้ อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณได้จะสะท้อนการสูงขึ้นของค่าครองชีพของคนคนหนึ่งได้ ก็แสดงว่าคนคนนั้นต้องมีแบบแผนการดำรงชีวิตเหมือนกับตะกร้าที่ใช้ในการคำนวณทุกประการ กล่าวคือ ของที่ผมใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนของในตะกร้าที่ทางการนำมาคำนวณทุกประการ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นต้องเหมือนกันไปเสียหมดทุกอย่าง เริ่มพอจะมองเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ต่างคนก็น่าที่จะมีอัตราเงินเฟ้อเป็นของตัวเอง เพราะของในตะกร้าที่เราใช้ในการดำรงชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป

สมมติว่าผมเป็นคนที่ไม่ชอบกินก๋วยเตี๋ยว ไม่ได้ขับรถ ไม่ชอบดูหนัง ไม่กินเนื้อหมู ไม่กินเหล้า ฯลฯ อัตราเงินเฟ้อที่ทางการประกาศก็ไม่ได้หมายความว่าค่าครองชีพของผมจะต้องสูงขึ้นด้วยตัวเลขเดียวกัน ผมจะไม่ประสบภาวะของแพงด้วยดีกรีที่ทางการประกาศอย่างแน่นอน เพราะผมบริโภคไม่เหมือนบุคคลตัวอย่างของทางการ ดังนั้นถ้าจะให้เห็นผลกระทบต่อตัวผมจริงๆ ก็ต้องใช้ตะกร้าการดำรงชีพของผมเอง

ตะกร้าการดำรงชีพของคนในเมืองกับคนต่างจังหวัดก็ต่างกันแล้ว ไหนจะเรื่องของ อายุ เพศ การศึกษา และระดับรายได้อีก ก็จะทำให้ตะกร้าการดำรงชีพของคนแต่ละกลุ่มก็ยิ่งแตกต่างกันอีก นี้ยังไม่รวมเรื่องรสนิยมเลยนะ ดังนั้นพวกที่รายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง หรือรายได้สูงแต่รสนิยมสูงกว่า อาจจะโดนเงินเฟ้อไปเต็มๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ว่าในตะกร้าของคุณมีอะไรอยู่บ้าง ถ้าตะกร้าของคุณมีของนอกอยู่เยอะกว่าชาวบ้าน เวลานี้เงินบาทแข็งค่า คุณก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าเมื่อไรที่เงินบาทอ่อนค่าเยอะๆ อัตราเงินเฟ้อส่วนตัวของคุณอาจจะสูงกว่าของชาวบ้านเป็นสิบเท่าก็ได้

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องไปคำนวณเงินเฟ้อของตัวเอง หรือจะต้องให้ทางการคำนวณเงินเฟ้อตามแบบแผนการบริโภคที่แตกต่างกัน ก็แค่อยากจะบอกว่าตัวเลขอัตราเงินเงินเฟ้อที่ทางการประกาศ มันมีที่มาที่ไป ไม่อยากให้ไปตีความหมายแบบเหมารวม และไม่อยากให้ยึดมั่นถือมั่นในตัวเลขดังกล่าว ว่ามีความสำคัญเหลือหลาย เป็นความเป็นความตายของชาติ เพราะบุคคลหนึ่งก็มีอัตราเงินเฟ้อหนึ่ง