posttoday

มอง P2P Lending แบบแชร์ดิจิทัล (มองแบบบ้านๆ)

10 มิถุนายน 2562

การปล่อยกู้ยืมเงินแบบ P2P​ เป็นนวัตกรรม​การเงินยุคดิจิทัล ซึ่งไม่ต่างกับการเล่นแชร์ในอดีต ซึ่งแม้ว่ามีผลดีลดต้นทุนการเงิน แต่ก็มีความเสี่ยงซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาให้รอบคอบ

การปล่อยกู้ยืมเงินแบบ P2P​ เป็นนวัตกรรม​การเงินยุคดิจิทัล ซึ่งไม่ต่างกับการเล่นแชร์ในอดีต ซึ่งแม้ว่ามีผลดีลดต้นทุนการเงิน แต่ก็มีความเสี่ยงซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาให้รอบคอบ

************************

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 10/2562 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ้ เครดิตบูโร

เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ผู้เขียนได้เห็นความตื่นตัวในบรรดาผู้เล่นในระบบสถาบันการเงิน​ ซึ่งรวมไปถึงบรรดาผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวนำหรือที่เรียกง่ายๆ ว่ากลุ่มฟินเทค​ หรือพวก​ platform ที่กำลังจะเกิดขึ้น​ ข่าวออกมาดังนี้ครับ

... ผู้บริหารระดับสูงของ​ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการฟินเทคประมาณ 10 บริษัท สนใจทำธุรกิจระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P lending platform) หลังจากที่ ธปท.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 เม.ย. 2562 ...

เงื่อนไขสำคัญก็คือการเตรียมความพร้อมของบรรดาผู้สมัครที่คิดจะยื่นขอใบอนุญาต​ ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการทดสอบ​ตัวอย่างเช่น

1. ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทั้งแบบเห็นหน้าและแบบที่ไม่ได้มาพบหน้ากันโดยตรงมีความน่าเชื่อถือขนาดไหน

2. ระบบการวิเคราะห์ตัวผู้ขอกู้ว่ามีความสามารถในการชำระหนี้​ มีความตั้งใจในการชำระหนี้​ การประเมินมูลค่าหลักประกัน (ถ้ามี)​

3. ระบบการบริหารลูกหนี้และระบบการติดตามลูกหนี้ตลอดช่วงสัญญาเงินกู้

4. ระบบการรับชำระและติดตามทวงถามหนี้ตลอดช่วงสัญญาเงินกู้

มองในมุมสถาบันการเงินในปัจจุบันที่มีความพร้อมที่จะลุยในธุรกิจนี้ก็ระบุว่า ธนาคารสนใจจะทำธุรกิจ P2P lending platform ในระยะข้างหน้า เพราะจะช่วยลดต้นทุนการระดมเงิน จากปัจจุบันที่ต้องระดมเงินฝากมาปล่อยกู้ แต่หากทำ P2P lending platform จะเป็นการนำเงินคนอื่นที่อยากให้กู้มาปล่อยกู้โดยมีธนาคาร เป็นแพลตฟอร์มตัวกลาง เนื่องจาก ธนาคารมีระบบเก็บเงินรายเดือน ระบบบังคับจำนอง ส่วนการวิเคราะห์สินเชื่อก็ปกติ ธนาคารวิเคราะห์ให้ แล้วก็ประเมินหลักประกัน รับชำระหนี้เงินกู้ และติดตามหนี้ให้​ ซึ่งป้องกันปัญหาเรื่องการเรียกเก็บเงินและกรณีผิดนัดชำระหนี้ได้อยู่แล้ว

หากจะเปรียบเทียบเรื่อง​ P2P​ ที่เป็นนวัตกรรม​ทางการเงินในยุคดิจิทัลกับแชร์หรือการเล่นแชร์ในอดีตก็น่าจะอธิบายได้ไม่ยาก​ ท่านผู้อ่านลองคิดตามดังนี้

1. ตัวของคนกลางที่จับคนอยากได้เงินกู้กับคนที่อยากให้กู้มาเจอกันก็คือ​ Platform​ ในวันนี้หรือเท้าเเชร์ในอดีตคือทั้งคู่ต้องมีความน่าเชื่อถือ​ เป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คนพอสมควรระดับออกปากแล้วยากจะปฏิเสธได้

2. อัตราดอกเบี้ยคือตัวตัดสินใจระหว่างคนกู้กับคนให้กู้​ คนกลางคือ​ Deal maker ในอดีตจะเปียแชร์หรือประมูลดอกเบี้ยกันเท่าไหร่อาจต้องปรึกษากับเท้าแชร์นิดหน่อย

3. เท้าแชร์ได้ประโยชน์เป็นค่าธรรมเนียมในการ​ matching ซึ่งก็เหมือนกับ​ P2P​ lending ที่บริหารโดย​ platform และยังมีหน้าที่ไปตามเก็บเงินจากวงแชร์ไปส่งมอบให้กับคนที่เปียร์ได้​ และส่งดอกเบี้ยให้กับคนที่นำเงินมาให้กู้​

4. ถ้ามีรายการเบี้ยวหนี้​ เกิดหนีการจ่าย​ หรือลูกแชร์เป็นหนี้เสีย​ ผิดนัดชำระหนี้​ เท้าแชร์ก็อาจสอดรับเข้ามาชำระหนี้แทนแล้วไปตามไล่เบี้ยเอากับคนที่เบี้ยวหนี้​ ในระบบ​ P2P​ ก็อาจไปหาสถาบันมาค้ำประกันทั้งหมดหรือบางส่วนในหนี้ก้อนนี้ที่กำลังทำ​ matching

สิ่งที่จะต่างกันบ้างเล็กน้อยคือคนที่เป็นเท้าแชร์จะรู้จักตัวตนของลูกแชร์ตัวเองอย่างลึกซึ้ง​ ต่อเนื่อง​ ยาวนาน​ มันมีความหมายมากกว่าการทำ​ KYC.เพื่อให้บริการทางการเงิน​ อีกประการหนึ่งคือเทคโนโลยีและเครืองมือครับ​ เครื่องมือของแชร์อาจแค่​ กรุ๊ปไลน์ไว้สื่อสาร​ พร้อมเพย์ไว้โอนเงิน​ และเลี้ยงโต๊ะจีนวันนัดเปียร์แชร์ที่เท้าแชร์ต้องเป็นเจ้าภาพ​

ถ้าเราตัดเอาเรื่องเครื่องมือทันสมัย​ กฎระเบียบที่เพิ่งออกมา​ และเรื่องที่เกิดในต่างประเทศ​ แล้วหันมามองนวัตกรรม​ในอดีตแบบบ้านๆ ที่แก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ​ SME​ มาเป็นระยะยาวนาน​ ก็จะพบว่าเราๆท่านๆ ที่ทำมาค้าขาย​ ก็คงจะคิดตามได้ไม่ยากถึงความเหมือนความต่างของสิ่งที่เกิดในอดีตกับสิ่งที่กำลังจะเกิดในตลาดบ้านเรา​ ประเด็นที่ผู้เขียนอยากให้สนใจคือ

1. ประสบการณ์ในเรื่องนี้ทั้งบวกและลบที่เกิดในประเทศจีน​ ถ้ามันมาเกิดกับประเทศเราบ้าง​ ใครจะเป็นคนเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา​ เพราะมันเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ​ มันไม่เข้าใครออกใครเสียด้วยสิครับ

2. ในบรรยากาศที่ดอกเบี้ยต่ำ​ มีพฤติกรรม​ search for yield ที่เราๆ ท่านๆ ไม่อยากให้เกิด​ แต่เมื่อมีสิ่งนี้ขึ้นมาแล้ว​ มันจะไปมีส่วนส่งเสริมพฤติกรรมที่เราไม่ค่อยอยากให้เกิดหรือไม่​ ดอกเบี้ยที่คิดไว้สูงสุด​ 15% มันจะแพงสำหรับโครงการดี แต่มันจะถูกมากสำหรับโครงการแย่ๆ แต่แปลงกายมา​ บาปเคราะห์ตรงนี้ถ้าเกิดจะมีผลกระทบขนาดไหน​ หรือเป็นราคาซื้อประสบการณ์​ของนักลงทุน​ ตามแนวคิด​ การลงทุนมีความเสี่ยง​ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ

ขอขอบคุณท่านที่ให้ความสนใจทุกท่านครับ