posttoday

จับตาประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า

10 มิถุนายน 2562

นักลงทุนติดตามผลกระทบสงครามการค้ารอบใหม่ ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น และการเมืองในประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน

นักลงทุนติดตามผลกระทบสงครามการค้ารอบใหม่ ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น และการเมืองในประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน

*************************

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นในกรอบ 31.20-31.60 ในช่วงวันที่ 10-14 มิถุนายน เงินบาทคาดว่าจะเคลื่อนไหวผันผวนตามประเด็นการค้าโลกเป็นสำคัญ โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ มีกำหนดพบกับผู้ว่าการธนาคารกลางจีนในการประชุมจี 20 ระหว่างวันที่ 7 – 9 มิถุนายน ซึ่งตลาดจะจับตาทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายว่าจะออกมาในทิศทางไหน นอกจากนี้ นักลงทุนรอติดตามว่าสหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีอย่างเป็นทางการกับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกในวันที่ 10 มิถุนายนหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น อาทิ เงินเยน รวมถึงเงินบาท ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ จีนมีกำหนดประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ โดยตลาดรอประเมินผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่ออัตราการขยายตัวต่อเศรษฐกิจจีน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบตามประเด็นการเมืองในประเทศและพัฒนาการการเจรจาทางการค้าโลก เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาเปิดตลาดแข็งค่าขึ้นมากจากราคาปิดในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยแข็งค่าขึ้นกว่า 1.00% สู่ระดับแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนกลับเข้าถือครองเงินบาทซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยในภูมิภาคเอเชีย ด้านตัวเลขเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาในช่วงต้นสัปดาห์ไม่ได้มีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท เนื่องจากตัวเลขแม้จะต่ำลงจากเดือนก่อนแต่สูงกว่าที่ตลาดคาด ในสัปดาห์นี้ ตลาดหันมาให้ความสนใจต่อการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก โดยประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ว่าหากทั้งสองยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ในสัปดาห์นี้ สหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีอย่างเป็นทางการกับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกทุกรายการในอัตรา 5% ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลายุโรป (อีซีบี) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยห่วงความเสี่ยงต่างประเทศและประเมินว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวที่ระดับปัจจุบันอย่างน้อยจนถึงครึ่งหลังของปี 2020 นอกจากนี้ อีซีบีได้ประกาศมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่ระบบธนาคารในยุโรป (TLTRO) รอบที่สาม ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบตามประเด็นทางการเมืองในประเทศ และปิดตลาดที่ระดับ 31.36 (ณ เวลา 17.00 น.)

ตลาดพันธบัตร ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเรายังคงเห็นนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวลดลง ซึ่งปัจจัยหลักยังคงเป็นความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาทางด้านธนาคารโลกก็ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกของปี 2019 มาอยู่ที่ 2.6% ลดลง 0.3% จากประมาณการครั้งก่อนในเดือนมกราคม นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวลดลงมากในสัปดาห์ที่ผ่านมาคงจะเป็นมุมมองที่นักลงทุนมีต่อการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ FED ที่ก่อนหน้านี้ได้เคยเปลี่ยนมุมมองจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาเป็นการคงดอกเบี้ยนโยบายแล้วครั้งหนึ่ง และจากท่าทีล่าสุดของคุณเจอร์โรม พาวเวล และสมาชิก FED หลายๆท่าน ที่ได้ออกมาให้ความเห็นถึงการจะเปิดช่องให้มีการลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในอนาคต ประกอบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกตั้งแต่ปี 2016 ลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่สามในปีนี้ มาอยู่ที่ 5.75% ทั้งหมดนี้เป็นการเน้นย้ำว่าธนาคารกลางในหลายๆประเทศมีมุมมองที่ Dovish มากขึ้น สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ โดย ณ วันที่ 07 มิถุนายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.80% 1.80% 1.82% 1.97% 2.08% และ 2.33% ตามลำดับ

จับตาประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า