posttoday

ในที่สุดเราก็มาถึงนโยบายคุมสัดส่วนยอดเงินชำระหนี้ต่อรายได้ย้อนหลังไป

27 พฤษภาคม 2562

การใช้อัตราส่วนรายได้มาคิดชำระหนี้ กำลังเป็นประเด็นร้อนเขย่าขวัญสถาบันการเงินไทย ที่จะปล่อยกู้ได้น้อยลง ทำให้ราคาหุ้นในตลาดตกตามไปด้วย

การใช้อัตราส่วนรายได้มาคิดชำระหนี้ กำลังเป็นประเด็นร้อนเขย่าขวัญสถาบันการเงินไทย ที่จะปล่อยกู้ได้น้อยลง ทำให้ราคาหุ้นในตลาดตกตามไปด้วย


***********************

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 8/2562 โดย...โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ประมาณปี 2558 ผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีงานสัมมนาประจำปีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยได้ทำหน้าที่เป็นผู้วิจารณ์และให้ข้อคิดเห็นกับคณะทีมผู้วิจัยที่จัดทำรายงานประเด็นปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งในเวลานั้นทุกฝ่ายต่างก็เห็นถึงความเสี่ยงในหลายมิติที่เป็นสาเหตุให้การก่อหนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น

1. ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ต่ำมาก จนทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำตาม ยอดผ่อนก็น้อยลงตาม คนกู้ก็คิดว่าผ่อนไหว ลุ้นได้ บางรายเลยเถิดไปกู้เพื่อเก็งกำไร

2. หลังน้ำท่วมใหญ่แบบเอาไม่อยู่ปลายปี 2554 ผู้คนต้องกู้มาซ่อมสร้าง เรียกว่าบางคนไม่เคยกู้ P-loan ก็ได้รู้จักกันวันนั้นมันคือการกู้เป็นก้อนแล้วมาผ่อนเป็นงวด

3. โครงการกระตุ้นการใช้จ่ายตามออกมาเพียบ กระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยโครงการรถยนต์คันแรก กระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ก็มีโครงการบ้านหลังแรก พวกผ่อน 0% มากันเพียบ เงินในมือผู้คนถูกเติมด้วยการก่อหนี้

4. การแข่งขันของสถาบันคนให้กู้ ต่างก็เร่งทำธุรกิจ เพราะมันมีความต้องการ แถมให้ผลตอบแทนสูงมาก สูงกว่าปล่อยกู้ SMEs หรือปล่อยกู้กิจการขนาดใหญ่
5.การออกมาตรการจัดการเจ้าหนี้นอกระบบให้เข้ามาปล่อยกู้ในระบบดีกว่า อย่าไปทำอะไรผิดกฎหมายข้างนอก ถ้าขืนยังทำต่อไปจะเจอกฎหมายลงโทษรุนแรง

ในข้อคิดเห็นของผมที่เสนอวันนั้นคือ การถอดบทเรียนจากไต้หวันซึ่งเคยเจอปัญหาผู้คนก่อหนี้ง่าย จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินเศรษฐกิจ มีคนไต้หวันมีปัญหาหนี้สินรุนแรงกว่าหกแสนคน มีหนี้เสีย 20,000 ล้านเหรียญ สิ่งที่เขาทำในปี 2551 คือการกำหนดระดับสูงสุดที่คนๆ หนึ่งจะกู้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันได้จะต้องไม่เกิน 22 เท่าของรายได้ หมายความว่ามีรายได้เท่าใดท่านจะกู้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันได้ไม่เกิน 22 เท่าของจำนวนนั้นในขณะที่ความเป็นจริงในตลาดก็จะกู้ได้จริงๆเพียง 12-15 เท่าของรายได้

พอเสนอเสร็จก็มีการสรุปแล้วก็เผยแพร่ แล้วเรื่องก็จางหายไป พร้อมกับสิ่งที่เราคุ้นเคยคือ นำผลจากการสัมมนาไปศึกษาเพื่อกำหนดนโยบายตามความเหมาะสมของสภาพการณ์ต่อไป โดยมอบหมายผู้ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

ผมมีข้อคิดจากนายธนาคารกลางท่านหนึ่งที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนกล้า ท่านเคยเขียนบทความเสนองานวิชาการยึดมั่นในหลักการ กล้าพูดกล้าคิด น่าเสียดายที่วันนี้ท่านไม่ได้มีภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ในการขับเคลื่อนมาตรการที่ควรจะได้ถูกหยิบยกมาใช้ตั้งแต่ในอดีต ความที่ท่านพูดเกี่ยวกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มี ดังนี้ ครับ

... สำหรับคนทั่วไปที่เกิดมา ก่อนยุคคอนโดดอกเห็ด เราจะเฝ้าถามมาหลายปีก่อนหน้านี่แล้ว ว่า คอนโดที่ขึ้นเป็นดอกเห็ด จะมีใครมาอยู่ ประชากร กทม. ก็ประมาณนี้ ไม่ได้มีการอพยพมาเพิ่ม ยุคประชากรเฟื่องฟูหมดไปแล้ว ก็มีคนพยายามอธิบาย ว่าหวัง demand จากครอบครัวเดี่ยว บ้านหลังที่สอง หรือไม่ก็คนจีนมาซื้อ แต่ก็ไม่เห็นชะลอการสร้างสักที จะโทษเอกชนอย่างเดียวก็ยาก เพราะนโยบายหลายปีที่ผ่านมาก็ล้วนกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ทั้งนั้น โอนฟรี ลดภาษี ดอกเบี้ยต่ำ แอลทีวี (LTV) แบบผ่อนปรนไม่ใช่ LTV จริงๆ ด้วยซ้ำ เพราะแค่ไปกินเงินกองทุนมากขึ้นแค่นั้น ระบบนิเวศที่เราสร้างขึ้นก็มีส่วนทำให้มาถึงวันนี้ นะครับ ผมก็สังเกตเหมือนพี่...

วกกลับเข้ามาเรื่องการใช้อัตราส่วนยอดเงินที่จะต้องชำระหนี้ทุกสัญญาต่อเดือนกับยอดรายรับที่ได้จริงๆ ในแต่ละเดือนที่ชาวการเงินการธนาคารเรียกขานกันว่า Debt Service Ratio หรือ DSR ที่กำลังเป็นประเด็นเขย่าขวัญ Head of Consumer banking business เวลานี้ทั้งสถาบันการเงินไทยและเทศ เหตุเพราะระดับสูงของธนาคารกลางประเทศเราได้ส่งสัญญาณว่า จะออกมาประมาณเดือนมิถุนายน 2562 นี้ และมีตัวเลขเหมือนขว้างก้อนหินถามทางมาว่า ถ้าคนที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ควรจะผ่อนทุกสิ่งอย่างไม่เกิน 60%ของรายได้คือ 18,000 บาท เหลือกินใช้ 12,000 บาทต่อเดือน เอา 12,000 หาร 30 วันก็ตกเป็นเงิน 400 บาทต่อวัน ดูมันจะเป็นตัวเลขที่พออยู่ได้ไหมในกทม. หรือเมืองใหญ่ ผมพยายามถอดสมการความคิดผ่านข่าวที่ออกมานะครับ ผิดถูกก็วิจารณ์ได้ครับ

ผลกระทบที่จะตามมาคือ คงจะมีบางกลุ่มของคนที่คิดจะกู้แต่มีหนี้เก่าอยู่แล้วจะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากมากขึ้น สถาบันที่ปล่อยกู้คงจะมีรายได้ กำไรน้อยลงหรือไม่ ถ้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์คงมองในทางลบ ราคาหุ้นจะลงไหม คงมีคนค้างยอดดอยกันอีกไหม คงจะมีการระบายโทสะผ่านสื่อออนไลน์กันอีกพอสมควร คนที่รับข่าวสารพวกสูงวัยนอนตื่นสาย บ่ายๆส่งไลน์คงมีกิจกรรมเพิ่ม พอถูกทักจากแหล่งที่เชื่อถือก็บอกว่า ก็ได้รับมาหนิ ไม่รู้ว่าถูกผิด ก็ส่งต่อๆ กันไป ไม่เชื่อก็ไม่ต้องอ่านสิ

ปัจจุบันนี้นอกจาก การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ ก็จะเพิ่มเป็น การรับข้อมูลทางไลน์ มีความเสี่ยง ผู้รับมาแล้วจะส่งต่อออกไปควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ(ส่งดีหรือไม่) แนวทางแก้ไขที่ผมใคร่แนะนำคือ ส่งแต่คำขวัญ คำอวยพร คำพระท่านให้ ดอกไม้ อาหาร สถานที่ท่องเที่ยวก็พอครับ เอาสีพื้นตามวันเลยก็ยังได้ จะช้าหรือเร็ว การใช้ยาแรงคงจะถูกนำมาหยอดกันหลังการจัดตั้งรัฐบาลนี้แหละครับ ในที่สุดเราก็มาถึงนโยบายคุมสัดส่วนยอดเงินชำระหนี้ต่อรายได้จนได้นับจากการสัมมนาวิชาการ ธปท. ปี 2558 ที่ผ่านมาครับ