posttoday

ภาษีครึ่งปี บริหารจัดการได้

22 พฤษภาคม 2562

การบริหารจัดการเสียภาษีให้ถูกต้องไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญไม่ควรพลาดการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี ซึ่งได้ทั้งการออมเงินและเสียภาษีลดลง

การบริหารจัดการเสียภาษีให้ถูกต้องไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญไม่ควรพลาดการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี ซึ่งได้ทั้งการออมเงินและเสียภาษีลดลง

***************************

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...บุษยพรรณ วัชรนาคา, CFP K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

ภาษีครึ่งปี บริหารจัดการได้

คนส่วนใหญ่รู้กันดีว่า เราจะยื่นภาษีกันปีละครั้งช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือคุณมีรายได้ประเภทอื่นๆ รู้ไหมว่าคุณมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีด้วยนะ วันนี้เราลองมาทำความเข้าใจกันหน่อยว่า ใครบ้างต้องยื่นภาษีครึ่งปี แล้วเรามีวิธีบริหารภาษีกันได้อย่างไรบ้าง

เช็กก่อนว่าใครเข้าข่ายบ้าง?

อย่างที่พอทราบกันว่า เงินได้ที่ได้จากการทำงานประเภทต่างๆ มีการแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม หรือที่คุ้นเคยว่าเป็นเงินได้มาตรา 40(1) - 40(8) แต่มีรายได้อยู่ 4 ประเภทที่เข้าข่ายต้องยื่นเสียภาษีครึ่งปี ซึ่งนั่นก็คือ เงินได้ 40(5) - 40(8) โดยเงินได้แต่ละประเภทหมายถึง

● ค่าเช่า หรือ เงินได้ 40(5) ถ้าคุณมีรายได้จากการปล่อยเช่าทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด ที่ดิน หรือรถยนต์ ก็ถือว่าเข้าข่ายเงินได้ประเภทนี้

● ค่าวิชาชีพอิสระ หรือ เงินได้ 40(6) สำหรับคนที่เข้าข่ายมีรายได้จากวิชาชีพอิสระนั้น มีด้วยกัน 6 ประเภท คือ นักบัญชี หมอ/พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักกฎหมาย ช่างประณีตศิลป์ ซึ่งต้องเป็นเงินได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนประจำ

● ค่ารับเหมา หรือ 40(7) รับเหมาในที่นี้ต้องเป็นการรับเหมาที่คุณต้องจัดหามาตั้งแต่คนงาน เครื่องไม้เครื่องมือ วัสดุต่างๆ ไม่ใช่แค่รับเฉพาะค่าแรงเท่านั้น

● เงินได้อื่นๆ หรือ 40(8) ข้อนี้ค่อนข้างกว้าง แต่หมายถึงเงินได้ที่ไม่เข้ากลุ่มไหนเลยใน 7 ประเภท ยกตัวอย่างเช่น รายได้จากการขายของออนไลน์ เปิดร้านขายอาหารเครื่องดื่ม รับงานเป็นพิธีกร ดารา นักแสดง หรือมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าคุณมีเงินได้ 4 ประเภทข้างต้น และจำนวนเงินรวมกันเกิน 60,000 บาท (กรณีเป็นคนโสด) หรือ 120,000 บาท (กรณีแต่งงานจดทะเบียนสมรส) ก็เอาเป็นว่า คุณมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีนั่นเอง

ต้องยื่นที่ไหน ยื่นอะไร

เมื่อเช็กประเภทเงินได้แล้ว ก็สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ของทุกปี โดยยื่นแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ก็ได้ หรือจะยื่นที่สำนักงานกรมสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ และที่ทำการไปรษณีย์ก็ได้เช่นกัน

ทีนี้เมื่อยื่นช่วงกลางปีไปแล้ว ตอนสิ้นปีต้องยื่นอีกไหม? คำตอบคือ ก็ยังต้องยื่นอยู่ แต่ช่วงสิ้นปีจะเป็นการสรุปยอดเงินได้รวมของทั้งปี ไม่ใช่แค่เงินได้ที่เกิดในช่วงครึ่งปีหลัง

ถ้ายื่นช้า เป็นอะไรไหม

สำหรับใครที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ต้องยื่นเสียภาษีครึ่งปี แล้วไม่ได้ยื่น หรือกะว่าจะรอไว้ยื่นทีเดียวตอนสิ้นปีเลย ถามว่าอันนี้ผิดไหม คำตอบคือ ผิด แถมยังมีค่าปรับอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ค้างจ่าย (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) และมีโทษอีกไม่เกิน 2,000 บาทด้วยนะ

สามารถใช้ตัวช่วยลดหย่อนได้ไหม

การยื่นภาษีครึ่งปีนั้น คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนตามสถานภาพต่างๆ ได้ เพียงแต่จะสามารถใช้สิทธิได้ครึ่งเดียวจากการใช้สิทธิเต็มปี เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ใช้สิทธิได้ 30,000 บาท (จากเต็มปี 60,000 บาท) เป็นต้น

นอกเหนือไปจากค่าลดหย่อนตามสถานภาพต่างๆ แล้ว คุณสามารถบริหารจัดการค่าลดหย่อนได้เหมือนกันการยื่นภาษีสิ้นปีปกติ ดังนั้น คุณสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวม LTF หรือ RMF มาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ โดยลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก และยอดลดหย่อนสูงสุดเท่ากับแบบเต็มปี เช่น ค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวม LTF ใช้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีช่วงครึ่งปีแรก และไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น

เห็นแบบนี้แล้ว แนะนำให้นำเงินได้ครึ่งปีแรกมาทดลองคำนวณก่อนจะถึงช่วงยื่นภาษีในเดือนกรกฎาคม ใครที่ยังไม่ได้จัดเตรียมเรื่องค่าลดหย่อนต่างๆ ก็จะได้วางแผนจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะต้องยื่นภาษีครึ่งหรือเปล่า อาจจะลองโทรไปสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมสรรพากร หรือโทร 1161